กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กปส.
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสุรินทร์ จิรวิศิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การบริการระบบสุขภาพให้ผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพมหานคร” โดยมี ผู้แทนฝ่ายกรุงเทพมหานคร ได้แก่ นายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายไกรจักร แก้วนิล ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ในส่วนผู้แทนฝ่ายกระทรวงแรงงาน ได้แก่ และนางสุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงการบริการระบบสุขภาพให้ผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น และมีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านบริการแพทย์ฉุกเฉิน บริการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลหนองจอก และโรงพยาบาลลาดกระบัง รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุข และสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของ กทม. ด้วย นอกจากนี้ กทม.ได้ขยายการให้บริการในส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การออกสูติบัตร ณ โรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน โดย สปส.จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ ขณะนี้ กทม.ให้บริการแล้ว ที่โรงพยาบาลกลาง และวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำหรับสถานพยาบาลอื่นคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในเร็วๆ นี้
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อกำหนดรายละเอียด แนวทางปฏิบัติ ให้การดำเนินการตามข้อตกลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2553 เป็นต้นมา การประกันสังคมได้มีการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ประกันตนมาเป็นลำดับ กรุงเทพมหานครเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยผู้ประกันตนเลือกรับบริการโรงพยาบาลในสังกัด รวมจำนวน 130,118 คน คิดเป็นร้อยละ 4.33 ของผู้ประกันตนทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,005,843 คน