กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
พีบีไอซีแนะคนไทยหันเรียน ภาษาฮินดี 1 ใน 5 ภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก รับโอกาสเศรษฐกิจ วัฒนธรรมเติบโตในอนาคต
กรุงเทพฯ 31 มกราคม 2562 – วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พีบีไอซี) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานเฉลิมฉลองวันภาษาฮินดีโลก (World Hindi Day) เพื่อสะท้อนความสำคัญของภาษาฮินดีที่มีผู้ใช้อย่างแพร่หลาย ติด 1 ใน 5 ภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดทั่วโลก แนะคนไทยหันมาเรียนรู้ภาษาฮินดีเพิ่มขึ้นรับโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจอินเดีย และความสัมพันธ์ไทย - อินเดีย ทุกมิติ ภายในงานยังมีการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมอินเดีย จาก 6 สถาบัน รวมทั้งจากนักศึกษาหลักสูตรอินเดียศึกษา ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ พร้อมทั้งพบปะพูดคุยกับบุคคลแวดวงสังคมไทย – อินเดีย อาทิ นางสุจิตรา ดูไร (H.E. Ms. Suchitra Durai) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย คุณสถิต กุมาร ประธานสมาคมรามกฤษณะ เวทานตะ (ประเทศไทย) มร.เอส.เอส. พูล (Mr. S.S Phool) ประธานหอการค้าอินเดีย - ไทย ฯลฯ
นางสุจิตรา ดูไร (H.E. Ms. Suchitra Durai) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า
งานเฉลิมฉลองวันภาษาฮินดีโลก (World Hindi Day) จัดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย และกำลังจะทวีบทบาทความสำคัญของโลกมากขึ้น ด้วยจำนวนประชากรชาวอินเดียที่เพิ่มขึ้นมากถึง 1.36 พันล้านคน อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียที่กำลังจะใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ภาษาฮินดีจึงเป็น 1 ใน 5 ภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดทั่วโลก ชาวอินเดียให้ความสำคัญกับภาษาฮินดี โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 10 มกราคม ของทุกปี เป็นวันภาษาฮินดีโลก เนื่องจากการประชุมในหัวข้อภาษาฮินดีถูกจัดขึ้นครั้งแรก ใน ปี 1975 ณ เมืองนาคปุระ ประเทศอินเดีย
นางสุจิตรา กล่าวเพิ่มว่า ในด้านของความสัมพันธ์อินเดียและไทย ถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีมากว่า 70 ปี ด้วยความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่มีร่วมกัน รวมถึงในปัจจุบัน บทบาทในแง่ของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างอินเดีย และไทย มีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของทัศนคติที่ดีของคนอินเดียต่อประเทศไทยมาโดยตลอด นอกจากความสัมพันธ์อันดีในทุกมิติของอินเดียและไทยแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจอินเดียมองหาเพิ่มเติมจากประเทศไทยคือ ความรู้ ความเข้าใจในบริบทต่างๆ ของอินเดียอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการรู้ภาษาฮินดี ที่มีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่กลับมีคนไทยจำนวนไม่มากที่สามารถใช้ภาษาฮินดีในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาฮินดี ก็จะเป็นประตูไปสู่ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายมิติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า นอกจากบทบาทด้านเศรษฐกิจของอินเดียที่เพิ่มขึ่นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว "วัฒนธรรมอินเดีย" ก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่เป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย อินเดียเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นหนึ่งในแหล่งอารยธรรมของเอเชีย วัฒนธรรมอินเดียแทรกซึมอยู่ทั่วโลก เนื่องจากประชากรอินเดียที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มแซงหน้าประชากรจีนที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายในปี 2024 ประชากรอินเดียยังกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้วัฒนธรรมอินเดียแพร่หลายไปทั่วโลกเช่นกัน คนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับ "ไชน่าทาวน์" หรือย่านที่เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาวจีน เนื่องจากมีชาวจีนอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นจำนวนมาก อินเดียเองก็มี "ลิตเติ้ลอินเดีย" เกิดขึ้นในหลายประเทศ จากการที่มีชาวอินเดียเข้าไปอาศัยมากขึ้นจนเกิดเป็นแหล่งรวมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งวัดฮินดู ร้านอาหารอินเดีย รวมถึงโรงแรม ร้านค้า ที่มีศิลปะ วัฒนธรรมแบบฮินดูเข้าไปเป็นส่วนผสม จนกลายเป็นสถานที่น่าสนใจของแต่ละประเทศเช่นกัน
ดร.ชเวตา สินหา (Dr. Shweta Sinha) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเติบโตของอินเดียในทุกๆ ด้านยังคงต้องการบุคลากรไทยที่มีความรู้ที่ลึกซึ้งและรอบด้านเกี่ยวกับอินเดีย เพื่อรองรับโอกาสการร่วมงานกับชาวอินเดียในอนาคต ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College: PBIC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ในส่วนของภาคการศึกษาในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องอินเดียอย่างลึกซึ้ง ผ่านหลักสูตรอินเดียศึกษา พีบีไอซี ที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้บริบทอินเดียอย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงภาษาฮินดี และเนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันภาษาฮินดีโลก พีบีไอซี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองภาษาฮินดีโลก ซึ่งภายในงานยังมีการพบปะ พูดคุยของบุคคลแวดวงสังคมไทย - อินเดีย และการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมอินเดียขนานแท้ โดยนักศึกษาอินเดียศึกษาจาก 6 สถาบัน ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่สนใจรายละเอียดหลักสูตรและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ การเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ในอาณาบริเวณศึกษาเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือไทย ด้วยการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ และโอกาสที่จะได้ศึกษาแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังในต่างประเทศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร. 0-2613-3720 หรือ facebook.com/PBIC.TU