กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 31 มกราคม 2562 - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชูแนวคิดพัฒนาอุตสาหกรรมแบบคู่ขนาน พร้อมเดินหน้ายกระดับศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ อย่างต่อเนื่อง ผ่าน 5 มาตรการ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันสู่สากล รวมถึงสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรูปแบบของธุรกิจ บริการอาหารแบบใหม่ในลักษณะของฟู้ดทรัค (Food Truck) เป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่
เพราะตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่ชอบความแปลกใหม่ มีเสน่ห์ดึงดูด มีความสะอาด และรสชาติอาหารที่อร่อย ทำให้เกิดความนิยมมารับประทานฟู้ดทรัคกันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มฟู้ดทรัค (Food Truck) จึงเดินหน้าผลักดันและร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ในการยกระดับศักยภาพให้อุตสาหกรรมรถจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและขยายตัวสู่ภูมิภาคอาเซียนต่อไป
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า ธุรกิจฟู้ดทรัคนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่รถเคลื่อนที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน อาทิ 1.) ธุรกิจรถยนต์และที่เกี่ยวข้อง 2.) ธุรกิจการเงินและการบริการทางธุรกิจ 3.) ธุรกิจการศึกษาและพัฒนาบุคลากร 4.) ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและประชาสัมพันธ์ 5.) ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม 6.) ธุรกิจร้านค้า ศูนย์การค้า และตลาดนัด 7.) ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการดาเนินงานและการขายอาหาร และ 8.) ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เว็บไซต์และการติดต่อสื่อสาร อันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งการส่งเสริมให้ธุรกิจฟู้ดทรัคของประเทศไทยให้เติบโตนั้น เป็นการเพิ่มรายได้และเงินหมุนเวียนในเครือข่ายธุรกิจนี้ได้อย่างมหาศาล ถือเป็นกลยุทธ์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบคู่ขนาน หรือ Dual-Sector Industrial Promotion โดยที่ผ่านมา กสอ. เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการโครงการเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคนำร่อง ในปี 2561 จนก่อให้เกิดเครือข่ายฟู้ดทรัคคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง สร้างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 25 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2562 กสอ. ยังคงเดินหน้ายกระดับศักยภาพ กลุ่มผู้ประกอบการฟู้ดทรัคผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
มาตรการที่ 1: การสนับสนุนให้เกิดฟู้ดทรัคที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยได้เตรียมออกมาตรการผลักดันและส่งเสริมที่เรียกว่า "สมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค (SMART 4 Food Truck)" ซึ่งจะประกอบด้วยการพัฒนา สร้างมาตรฐานในส่วนสำคัญต่าง ๆ 4 ด้าน ได้แก่ 1. มาตรฐานคนที่ทำอาหารบนรถฟู้ดทรัค 2. มาตรฐานของครัว บนรถฟู้ดทรัค 3. มาตรฐานของตัวรถฟู้ดทรัค 4. มาตรฐานตลาด ทั้งตัวตลาดที่เป็นสถานที่ (Market Place) รวมถึงการจัดการและการตลาด (Management & Marketing) ซึ่งมาตรฐานทั้ง 4 ด้านนี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคให้เติบโตแบบแข็งแรงและยั่งยืน โดย กสอ. มีการบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนมาตรฐานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนผลักดันให้เกิดตลาดที่ดีอันเป็นสถานที่ขายสำคัญของฟู้ดทรัคที่ได้มาตรฐาน
มาตรการที่ 2: การพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการฟู้ดทรัคให้เข้มแข็ง โดยได้สร้างรูปแบบการพัฒนาผู้ประกอบการฟู้ดทรัคเป็นบันได 5 ขั้นสู่ความสำเร็จในธุรกิจฟู้ดทรัค เริ่มจากการให้ความรู้ตั้งแต่การเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดทรัค การเป็นผู้ประกอบการฟู้ดทรัคหน้าใหม่ การพัฒนาธุรกิจฟู้ดทรัคระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจฟู้ดทรัคให้ก้าวไปในระดับสากล และสร้างเข้มแข็งให้เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นนโยบายเป้าหมายที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของ กสอ.
มาตรการที่ 3: การพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในระดับประเทศ ด้วยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการฟู้ดทรัคและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟู้ดทรัค หลังจากได้ผ่านการบ่มเพาะด้วยบันได 5 ขั้น เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์ฟู้ดทรัคทั่วประเทศ และสร้างการจัดการบริหารในภาพรวมกลุ่มให้เป็น "เครือข่ายฟู้ดทรัค
คลัสเตอร์ประเทศไทย" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการฟู้ดทรัคที่มีศักยภาพ มาตรฐานและมีความพร้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ กสอ.
มาตรการที่ 4: การเชื่อมโยงสู่ตลาดต่าง ๆ ซึ่ง กสอ. จะทำการเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด ให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Big Brothers หรือ หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ กสอ. ทำร่วมกับภาคีเครือข่าย
มาตรการที่ 5: ความพร้อมทางด้านเงินทุน แน่นอนว่าเงินทุนเป็นสิ่งจำเป็นกับการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา กสอ.ได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาและประเภทของธุรกิจสำหรับการขอสินเชื่อจากโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยให้รองรับกลุ่มธุรกิจฟู้ดทรัค โดยมีอัตราดอกเบี้ย เพียงร้อยละ 4 และมีวงเงินในการขอสินเชื่อไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ทั้งนี้วงเงินนี้ปรับเปลี่ยนไปตามศักยภาพของธุรกิจฟู้ดทรัค เพื่อการบริหารความเสี่ยงของการให้กับกองทุนฯ โดยหากเป็นฟู้ดทรัคที่มีศักยภาพ ได้มาตรฐานสมาร์ทโฟร์ฟู้ดทรัค จะได้เพดานวงเงินสูงถึง 1 ล้านบาท แต่หากอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจวงเงินสินเชื่อก็จะลดลงต่ำลงมาเหลือไม่เกิน 5 แสนบาท โดยผู้ที่ขอสินเชื่อนี้จำเป็นที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ กสอ.
สำหรับนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฟู้ดทรัค ทั้ง 5 มาตรการนี้ จะเป็นการแนวทาง การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยจะเป็นต้นแบบของกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรม แบบคู่ขนานและเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก อันเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
และภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40 ล้านบาท นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th , Facebook/dippr