กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์
- ฟอร์ดประกาศการก่อตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม" หรือ FREC ในกรุงเทพฯ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรองค์กรเอ็นจีโอและผู้อยู่อาศัยในชุมชนมาร่วมกันสร้างแผนพัฒนาร่วมกัน
- มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ เอสโอเอส (Scholars of Sustenance: SOS) องค์กรเอ็นจีโอด้านการจัดการอาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นหน่วยงานพันธมิตรหลักของฟอร์ด จะใช้ศูนย์ FREC เป็นศูนย์กลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกินที่อาจมีปริมาณมากถึง 2 ตันต่อวัน
- ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ยังเป็นที่ตั้งของ Nature Inc ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในกรุงเทพฯ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพอย่างสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า
- นอกจากนี้ ศูนย์ FREC ยังเป็นที่ตั้งของ เออเบิน สตั้ดดี้ส์ แล็บ คณะทำงานวิจัยด้านชุมชนกลุ่มใหม่ ที่จะช่วยวางแผนโครงการช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในย่านนางเลิ้งให้สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ
กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี หน่วยงานเพื่อสังคมของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประกาศการก่อตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม" หรือ FREC ในกรุงเทพฯ ซึ่งศูนย์ FREC แห่งนี้จะเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ หลายองค์กร
ศูนย์ FREC ในกรุงเทพฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และหน่วยงานเอ็นจีโอหลายองค์กร โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน กองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้จัดกิจกรรมแรกของศูนย์ FREC ในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มพันธมิตรองค์กรเอ็นจีโอและผู้คนในชุมชนได้มาพบปะกัน และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นครั้งแรก และได้รับทราบถึงโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้
"ภารกิจของกองทุนฟอร์ดมอเตอร์ คัมปะนี คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น โดยศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้" ไมค์ ชมิดท์ ผู้อำนวยการ การศึกษาและการพัฒนาประชาคมโลก กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว "ศูนย์ FREC ทั่วโลก จะเป็นสถานที่เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและความช่วยเหลือตามความต้องการและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้ ศูนย์ FREC ยังมีหน่วยงานพันธมิตรที่ยอดเยี่ยมซึ่งเรามุ่งหวังที่จะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อนำโครงการและโอกาสใหม่ๆ ส่งต่อให้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้"
ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ริเริ่มขึ้นโดยกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ที่จะรวมหน่วยงานพันธมิตรที่ไม่แสวงกำไรมาทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมชุมชนโดยรอบและช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการเปิดศูนย์ FREC แห่งใหม่นี้เป็นการต่อยอดศูนย์ FREC ที่มีอยู่อีก 2 แห่งในเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา และศูนย์ FREC ประเทศแอฟริกาใต้ (พ.ศ.2560) และเมืองไครโอวา ประเทศโรมาเนีย (พ.ศ.2561)
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ สร้างขึ้นตามแบบของศูนย์ FREC ในเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเปิดทำการในปี พ.ศ. 2556 และได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งพิงของชุมชน โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากกว่า 85,000 คน จากการแบ่งปันอาหาร การเตรียมการคืนภาษี การศึกษา การริเริ่มงาน และการช่วยเหลือด้านกฎหมาย
"ฟอร์ดมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งและสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ที่ฟอร์ดเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแห่งนี้ จะช่วยผลักดันให้การทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและชุมชนของฟอร์ดในประเทศไทยก้าวขึ้นไปอีกระดับ" นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว "ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างฟอร์ดและผู้อยู่อาศัยในชุมชนในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมอย่างยั่งยืน"
เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนที่มีประวัติอันยาวนานของกรุงเทพฯ
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนสตรีจุลนาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ และมีตลาดอาหารนางเลิ้งที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ในหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาได้ขยายไปยังส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ชุมชนดังกล่าวจึงมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร และทางสังคม โดยสถานีรถไฟใต้ดินที่กำลังจะเปิดตัวเพื่อเชื่อมต่อชุมชนนี้กับส่วนอื่นๆ ของเมืองอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
"ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะและทรัพยากรสำหรับชุมชนนี้ และเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ พวกเราจะต้องคอยดู รับฟัง เข้าใจ และเรียนรู้" ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ทำงานร่วมกับกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนเพิ่มเติมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
"ในอนาคตข้างหน้า หากเรามีการฟังความต้องการของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ FREC ก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ได้ โดยบรรลุทั้งเป้าหมายที่มีอยู่และยังนำไปสู่เป้าหมายใหม่ต่อไป ผมเชื่อว่าศูนย์ FREC กรุงเทพฯ และองค์กรพันธมิตรต่างๆ จะสามารถทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวกับข้องทุกฝ่ายมาร่วมมือกับผู้คนในชุมชนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนนางเลิ้งได้อย่างสร้างสรรค์" ดร. พงษ์พิศิษฐ์ เสริม
ทีมนักวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศไทยจะจัดตั้งเออเบิน สตั้ดดี้ส์ แล็บ เป็นศูนย์การศึกษาชุมชนเมือง ที่ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เพื่อให้มั่นใจให้ว่าโครงการต่างๆ ของศูนย์จะขับเคลื่อนโดยชุมชนอย่างแท้จริง โดยทีมนักวิจัยเหล่านี้จะทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ในการค้นคว้าและจัดตั้งโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนร่วมกัน นอกจากนี้ เออเบิน สตั้ดดี้ส์ แล็บ จะจัดการเรียนการสอน "ชั้นเรียนชุมชนเมือง" ให้แก่นักศึกษา รวมถึงจัดการบรรยายและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนทำโครงการศึกษาวิจัยที่มีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย USL ยังให้การสนับสนุนด้านบริหารจัดการความรู้และการสนับสนุนทางวิชาการสำหรับโครงการต่างๆ ของศูนย์ FREC ผ่านทางศูนย์การวิจัยข้อมูลแบบเปิด
ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ: ศูนย์กลางการส่งต่ออาหารส่วนเกินแห่งใหม่ของเมือง
มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ เอสโอเอส ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของศูนย์ FREC จะใช้ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการดำเนินการเพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ โดยใช้รถกระบะ 5 คัน ในการรวบรวมอาหารส่วนเกินที่มีปริมาณมากถึงวันละ 2 ตัน ในแต่ละวัน จากร้านอาหาร ร้านขายของชำและโรงแรม หลังจากนั้น เอสโอเอสจะนำอาหารเหล่านี้ที่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว ไปแจกจ่ายให้กับสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและสถานสงเคราะห์กว่า 30 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ
"มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ร่วมวางแผนก่อตั้งศูนย์ FREC กรุงเทพฯ กับกองทุนฟอร์ดมานานกว่า 1 ปี และพวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการเปิดตัวศูนย์ฯ ในวันนี้" โบ โฮล์มกรีน ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ กล่าว "นอกจากสถานที่ทำการแล้ว ศูนย์ FREC ยังเป็นครัวและสถานที่ทำความสะอาด เพื่อช่วยให้เราสามารถแปรรูปอาหารที่จะนำไปบริจาคได้อย่างปลอดภัย อีกทั้ง ศูนย์ FREC ยังเป็นสถานที่สำหรับการจัดแสดงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะปลูกแบบแอโรโพนิกสำหรับชุมชนในเมือง ซึ่งทางเราจะจัดแสดงเร็วๆ นี้ภายหลังจากย้ายเข้าไปที่ศูนย์ฯ แล้ว"
นอกจากนี้ กองทุนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ยังได้มอบรถกระบะ ฟอร์ด เรนเจอร์ คันใหม่ ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิอาหารให้แก่มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เพิ่มจากขบวนรถเก็บความเย็นที่มีอยู่เดิมของมูลนิธิ ซึ่งทั้งหมดจะจอดรับส่งอาหารประมาณ 45 ที่ในแต่ละวัน และเดินทางร่วม 500 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เอสโอเอส บริหารจัดการการเดินทางของรถเองโดยมีผู้บริจาคและคนขับรถโทรศัพท์แจ้งข้อมูลการรับส่งอาหารและสถานที่ ดังนั้น เพื่อให้การเก็บรวบรวมอาหารเป็นไปอย่างชาญฉลาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น เอสโอเอส จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามและบริหารจัดการการเดินทางของรถได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและการสนับสนุนจากฟอร์ด ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะเปิดตัวภายในปีนี้
โค-เวิร์คกิ้งสเปซขององค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของกรุงเทพฯ
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ และมูลนิธิรักสัตว์ป่า จะร่วมมือกันจัดตั้งโค-เวิร์คกิ้งสเปซหรือพื้นที่ทำงานร่วมแห่งแรกสำหรับเอ็นจีโอที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายใต้ Nature Inc ณ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ โดยองค์กรเหล่านี้สามารถใช้บริเวณสำนักงาน ห้องประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอทีอื่นๆ ร่วมกันได้ที่ Nature Inc ซึ่งถือเป็นการลดภาระเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เพื่อจะได้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินโครงการ
"เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กหลายองค์กรที่เราทำงานด้วย มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในภาคสนาม ถึงแม้องค์กรเหล่านั้นจะต้องการสำนักงานในเมือง แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการสำนักงานแบบเต็มเวลา" แนนซี่ ลิน กิ๊บสัน กรรมการบริหาร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้ง มูลนิธิรักสัตว์ป่า กล่าว "Nature Inc ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่สำนักงานระดับมืออาชีพ แต่ยังเป็นพื้นที่ในการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหา แบ่งปันข้อแนะนำและระดมสมองเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ อีกด้วย"
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยและมูลนิธิรักสัตว์ป่าจะเป็น 2 องค์กรแรก ที่เข้าไปดำเนินการในบริษัทเนเจอร์ โดยจะมีองค์กรอื่นเข้าร่วมเพิ่มเติมในระหว่างปี ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มวาฬไทย กลุ่ม New Heaven Reef Conversation Program กลุ่มบิ๊กทรี และทีมนักสื่อสารด้านธรรมชาติวิทยา ทั้งนี้ องค์กรเอ็นจีโอดังกล่าวจะต้องจัดเวิร์คช็อปหรือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและบริการต่างๆ ให้แก่ชุมชนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการใช้พื้นที่ทำงานร่วม อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรก หน่วยงานพันธมิตรของ Nature Inc จะร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ เพื่อดำเนินโครงการด้านการเพาะปลูกและทำสวนในชุมชนเมือง
Bangkok 1899: โครงการด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ช่วยเติมเต็มศูนย์ FREC กรุงเทพฯ
Bangkok 1899 คือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่เป็นจุดรวมของศิลปะ การออกแบบ วิถีชีวิตในเมือง และนวัตกรรมทางสังคม เป็นหน่วยงานเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ข้างศูนย์ FREC และจะเปิดตัวในเดือนหน้านี้ โครงการดังกล่าวจะเข้ามาเป็นส่วนเสริมโครงการอื่นๆ ของศูนย์ FREC โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟอร์ด และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร RSA
สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ถูกออกแบบโดย มร. มาริโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2442 และเคยเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี บิดาการศึกษาสมัยใหม่ของไทย โดยศูนย์ FREC ได้ก่อตั้งขึ้นบนที่ดินของโรงเรียนซึ่งตระกูลของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นเจ้าของ
"โครงการ Bangkok 1899 และศูนย์ FREC มีความเชื่อเดียวกันว่าการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ทั้งในระดับบุคคลและส่วนร่วมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาสังคมให้สามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้" ซูซานนา ตันเต็มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร องค์กรครีเอทีฟไมเกรชัน ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหาร Bangkok 1899 กล่าว "เป้าหมายของการเปิดตัวของทั้ง 2 ศูนย์นี้คือการเป็นหนึ่งในจุดหมายที่สำคัญที่สุดในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ พวกเราจะรวบรวมประชาชน ศิลปิน ผู้คิดค้นนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และนักคิด เพื่อร่วมมือกันคิดหาวิธีรับมือกับความท้าทายของคนไทยในยุคศตวรรษที่ 21"
โครงการ Bangkok 1899 นี้ยังรวมถึงโครงการให้ที่พักแก่ศิลปินนานาชาติ การจัดงานอีเวนท์ โอเพ่นสเปซหรือพื้นที่เปิดบรรยากาศธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ และคาเฟ่ไร้ขยะที่ส่งผลต่อสังคม ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผสมผสานเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายรูปแบบไปพร้อมกับฟาร์มในชุมชนเมืองขนาดเล็ก โครงการพัฒนาสัมพันธภาพของ RSA หรือ RSA Fellowship Development และงานอีเวนท์ระดับโลก เช่น งานประจำปีเกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคม ศิลปะ และการออกแบบ
สำหรับนักดนตรีคนแรกที่จะเข้าไปพำนักคือ เชน พี คาร์เตอร์ นักดนตรีชื่อดังจากเมืองดะนิดิน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งกำลังร่วมงานกับ อานนท์ นงเยาว์ ศิลปินด้านเสียง และปิย์นาถ โชติกเสถียร กลัดศิริ นักดนตรีหมอลำ Bangkok 1899 มีกำหนดเปิดตัวในต้นกุมภาพันธ์นี้ โดยนำเสนอการแสดงจากเชนและเพื่อนๆ ศิลปิน
ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี
กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นหน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี โดยจะลงทุนในโครงการที่สร้าง
ความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม การเสริมสร้างพลังของประชาชน การส่งเสริมด้านการเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม และการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในชุมชน นอกจากนี้ กองทุน ฟอร์ด ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและต่างชาติ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนให้มีการขับขี่อย่างปลอดภัย รวบรวมพนักงานอาสาสมัคร และยกระดับชีวิตของคนในชุมชน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ http://community.ford.com หรือทางเฟสบุค @FordFund และทวิตเตอร์ @FordFund
ข้อมูลเกี่ยวกับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจของบริษัท ได้แก่ การออกแบบ ผลิต ทำการตลาด และบริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถเอสยูวี รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในแบรนด์ฟอร์ด และแบรนด์ลินคอล์น ซึ่งเป็นแบรนด์ในตลาดรถหรู รวมถึงให้บริการด้านการเงินผ่านบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต และบริษัทกำลังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และแผนการสัญจรอัจฉริยะ ฟอร์ดมีพนักงานรวมประมาณ 200,000 คนทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟอร์ด ผลิตภัณฑ์ของฟอร์ด และฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.corporate.ford.com