กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ได้รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 6,833,645.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.80 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,551,356.52 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 937,778.13 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน* (รัฐบาลค้ำประกัน) 336,643.42 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,867.86 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หนี้รัฐบาล จำนวน 5,551,356.52 ล้านบาท มีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้
- เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,600 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนการกู้เงินที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ รวมถึงการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมที่มั่นคงของประชาชนเป็นสำคัญ
- การกู้เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ถึงกำหนดการเบิกจ่ายตามแผนงาน และความก้าวหน้าของโครงการจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ เพิ่มขึ้นสุทธิ 4,119.13 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,797.64 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น จำนวน 1,227.92 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ จำนวน 198.58 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร จำนวน 174.48 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 121.17 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ จำนวน 38.27 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 37.22 ล้านบาท และ (2) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยซึ่งเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 2,321.49 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี จำนวน 1,335.82 ล้านบาท สายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 671.87 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน จำนวน 313.80 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ คาดการณ์ว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ โครงการลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 15.13 และร้อยละ 15.72 ของมูลค่าการลงทุนของโครงการ ตามลำดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 1,000 ล้านบาท
- หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 309.89 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้สกุลเงินเหรียญสหรัฐและสกุลเงินเยนเป็นสำคัญ
หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 937,778.13 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 204.36 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
- หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,491.19 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจาก
หนี้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 336,643.42 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,614.93 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,867.86 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 597.56 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้เงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 500 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 6,833,645.93 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 6,578,857.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.27 และหนี้ต่างประเทศ 254,788.13 ล้านบาท (ประมาณ 7,778.38 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 3.73 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะ คงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,970,360.85 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.37 และหนี้ระยะสั้น 863,285.08 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.63 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด
คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0-2265-8050 ต่อ 5505