กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยจะนั่งเก้าอี้ "ประธานอาเซียน" โดยรับไม้ต่อจากประเทศสิงคโปร์ ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" โดยมีโจทย์สำคัญคือการผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ซึ่ง "การต่อต้านการทุจริต" เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นความท้าทายของภูมิภาคนี้โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมประจำปีของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในภูมิภาคอาเซียน หรือ SEA-PAC Principals Meeting ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2562 นี้ โดยมีผู้นำของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตจากประเทศอาเซียนกว่า 10 ประเทศเข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากลไกการต่อต้านการทุจริต การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ CPI ของประเทศในอาเซียน
SEA-PAC หรือ Southeast Asia Parties against Corruption เป็นกลุ่มความร่วมมือของหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547 โดย SEA-PAC มีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการต่อต้านการทุจริตการพัฒนาด้านวิชาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาการทุจริตที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือในการประสานงานคดีทุจริตระหว่างประเทศ นอกจากนั้น การประชุมนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกจะได้หารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อร่วมกันยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ CPI ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ที่มีการจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของภูมิภาคอาเซียนในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในกรอบการประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันการยกระดับของ SEA-PAC ให้กลายเป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน (Entities associated with ASEAN) ซึ่งจะทำให้การต่อต้านการทุจริตเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนทุกประเทศต้องหันมาให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อทำให้ภูมิภาคนี้ปราศจากการทุจริต อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน