กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ตามที่สถานการณ์ปัจจุบันได้มีฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้คุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" (สีส้ม) และ "มีผลกระทบต่อสุขภาพ" (สีแดง) ในบางพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัม /ลบ.ม. ) รวม 40 พื้นที่ ส่วนใหญ่บริเวณพื้นที่ริมถนนมีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "มีผลกระทบต่อสุขภาพ" และพื้นที่ทั่วไปคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงในแต่ละวันจะเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวันด้วย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 มีสาเหตุหลักมาจาก 4 ส่วนหลัก ๆ คือ 1) การเผาชีวมวล พืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย เศษฟางข้าว ข้าวโพด 2) เกิดจากโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงจำพวกแกลบ เศษไม้ น้ำมันเตา โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง จะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง 3) การคมนาคมทางบก ได้แก่ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ 4) การก่อสร้าง ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท. ส่วนใหญ่เป็น SMEs และต้องการความช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการดูแลในด้านดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมฯ ตระหนักถึงการป้องกันและการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการเฝ้าตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องกระบวนการผลิต เครื่องจักรต่าง ๆ เช่น หม้อไอน้ำ เตาเผา เป็นต้น ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้มีมาตรการดำเนินการในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกระบวนการผลิตและกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ โดยแบ่งมาตรการออกเป็นระยะเร่งด่วนและระยะยาวดังนี้
มาตรการระยะเร่งด่วน
1. ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกในการดูแลความสะอาดและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น การกองเก็บวัตถุดิบที่จะฟุ้งกระจายได้ การขนส่งวัตถุดิบและสินค้า กิจกรรมการก่อสร้างต่างๆ และบริเวณถนนรอบโรงงาน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะมีมาตรการกองเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร การพรมน้ำเพื่อป้องกันวัตถุดิบฟุ้งกระจาย การใช้รถดูดฝุ่น และการใช้มาตรการล้างล้อ และทำความสะอาดภายในท่อไอเสียของรถบรรทุกขนส่ง ทั้งขาเข้า-ออกนอกโรงงาน
2. ดูแลตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ อาทิ เตาเผา boiler เครื่องบำบัดฝุ่น ให้มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ก๊าซธรรรมชาติ รวมทั้งมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
3. ตรวจสอบวิเคราะห์ hotspot ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด
4. ให้นโยบายการทำงาน work at home รวมทั้งใช้ระบบสื่อสาร online และ E-office เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบฝุ่นจากการเดินทางและดูแลสุขภาพพนักงาน
มาตรการระยะยาว
1. ออกมาตรการดูแลส่งเสริมคู่ธุรกิจ (Supply Chain) ให้มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Process) และได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)
2. เน้นการส่งเสริมและให้ความรู้กับคู่ธุรกิจ (Supply Chain) โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ชาวไร่อ้อย ข้าว เป็นต้น
3. ผลักดันให้ภาครัฐ มีนโยบายให้ ใช้รถไฟฟ้าโดย กำหนดให้รถสาธารณะ เช่นรถเมล์ แท็กซี่สามล้อ รถตู้โดยสารรถสองแถวต้องเป็น EV โดยรัฐบาลลดภาษีนำเข้าและสรรพาสามิตจูงใจ
4. ให้ติดตั้งเครื่องมือวัดค่าฝุ่นขนาดเล็กกับทุกกิจการที่มีอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้สมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานตามแนวทางโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ซึ่งเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลไกลสำคัญในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษของทางภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน นายสุพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย