กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมชี้แจงกรอบงานวิจัย ปีงบประมาณ 2563 พร้อมเปิดรับข้อเสนองานวิจัย ภายใต้ทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพในระยะ 1-3 ปี กับประเด็นเร่งด่วน (Quick Win) ตลอดจนตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปสาธารณสุขของประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 2) การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค และภัยคุกคามสุขภาพ 3) การบริหารจัดการและการเงินการคลัง 4) การสร้างความรอบรู้และการสื่อสารสุขภาพ รวมทั้งประเด็นปัญหาสุขภาพของประเทศที่เป็นภาระสูง สอดคล้องตามยุทธศาสตร์และแผนงานวิจัยของ สวรส. ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวมีนักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และภาคเอกชน จากมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงกว่า 200 คน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวในการบรรยายเรื่อง "แนวทางการวิจัยสุขภาพ สวรส.กับการพัฒนาประเทศ" ว่า ปัจจุบันทิศทางการดำเนินงานของแหล่งทุนวิจัยทั่วโลก ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่มุ่งเป้าการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิต ก่อนวัยอันควร 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) บุหรี่ 2) แอลกอฮอล์ 3) การไม่ออกกำลังกาย 4) การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม 5) โรคเบาหวาน/ความดัน ตลอดจนปัญหาด้านบุคลากร ทั้งในมิติของความเพียงพอ การกระจายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นับเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและการนำผลงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้
โดย สวรส. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวิจัยสู่นโยบาย ตลอดจนสนับสนุนการวิเคราะห์ให้เกิดการดำเนินงานในเชิงนโยบาย ด้วย 5 แนวทางการพัฒนาวิจัยระบบสุขภาพที่สำคัญของ สวรส. ได้แก่ 1) การออกแบบ พัฒนา และสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่ตอบสนองต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ ครอบคลุมทั้งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวิจัยทางคลินิก การวิจัยระบบสุขภาพและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) การจัดการงานวิจัย โดยสร้างและจัดการความรู้ตามประเด็นเป้าหมายการพัฒนาระบบสุขภาพ 3) พัฒนาระบบประกันคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย โดยการทำงานร่วมกับหลากหลายสถาบัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฯลฯ 4) การส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถนักวิจัยระดับพื้นที่ และสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ 5) ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมมือทั้งในเชิงวิชาการและการพัฒนางานร่วมกันระหว่างองค์กร
นพ.นพพร กล่าวต่อว่า ประเด็นการวิจัยที่สำคัญในระยะ 1-3 ปี ที่ สวรส.จะเร่งดำเนินงาน โดยจัดให้เป็นประเด็นเร่งด่วน (Quick Win) สำคัญที่มุ่งให้เกิดการพัฒนา/แก้ปัญหาระบบสุขภาพของประเทศในระยะใกล้นี้ ได้แก่ National Clearing House เพื่อเกิดมาตรฐานการดำเนินงานและการใช้งบประมาณประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด Drug System ระบบการจัดซื้อยารวมเพื่อประสิทธิภาพด้านงบประมาณของประเทศ Ideal National Health Insurance System การพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่พึงประสงค์ Primary Care System การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิทั้งในเขตเมืองและชนบท Regional Health System การปฏิรูปหน่วยบริการของรัฐให้มีประสิทธิภาพ (เขตสุขภาพ) Health Literacy การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้บริหารระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชน Big Data ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการวิจัยสุขภาพที่สำคัญของประเทศ อาทิ ข้อมูลในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Medical Innovation การพัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์ โดยผลักดันไปสู่ระดับ Commercial Scale เพื่อนำไปใช้ได้จริง ทั้งนี้แนวทางสำคัญในปีงบประมาณ 2563 คือกระบวนการพิจารณาข้อเสนองานวิจัยใหม่ที่เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและให้ทันต่อสถานการณ์การใช้ประโยชน์งานวิจัย โดยเปิดรับข้อเสนองานวิจัยปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่ 28 ธ.ค.2561 - 28 ก.พ.2562 ประกาศผลการพิจารณา เม.ย.2562 โดยผ่านกระบวนการทบทวนจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยปรับแก้ พร้อมจัดทำข้อตกลงสนับสนุนทุนวิจัยปีงบประมาณ 2563 ได้ภายในปี 2562 นี้
นอกจากนี้ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้แก่ ทพ.จเร วิชาไทย, ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์, ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ และ ภญ.ดร.นพคุณ ธรรมธัชอารี ได้ร่วมนำเสนอรายละเอียดกรอบประเด็นวิจัยของแต่ละแผนงานและการบูรณาการ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพในปี 2563 ทั้งด้านวัฒนธรรมใหม่ของการวิจัย ตลอดจนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายวิจัยในการขับเคลื่อนงานที่ตอบสนองการแก้ปัญหาพื้นที่และพัฒนานโยบายสุขภาพ โดยประเด็นวิจัยสำคัญ อาทิเช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้มีมาตรฐานและประชาชนมีความพึงพอใจ การบริหารจัดการและพัฒนากำลังคนในภาพรวมของระบบสุขภาพ การออกแบบงานวิจัยการอภิบาลระบบสุขภาพของประเทศ การพัฒนางานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และผลักดันสู่เชิงพาณิชย์หรือระบบบริการ การพัฒนานโยบายสุขภาพเพื่อประชากรต่างด้าว การพัฒนามาตรการต้นแบบในการป้องกัน บำบัดรักษา ฟื้นฟูกลุ่มเด็กและเยาวชน ประเด็นยาเสพติด การพัฒนามาตรการต้นแบบในการส่งเสริม ควบคุม ป้องกัน บำบัดรักษาโรคจากปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนานโยบายด้านการเงินการคลังและพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่พึงประสงค์ การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและระบบการจัดซื้อยารวมเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ สวรส.เป็นหน่วยประสานระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติงานในพื้นที่/หน้างาน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และการดำเนินงานร่วมกัน
สวรส. เปิดรับข้อเสนองานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2563 มาตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2561 ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2562 นี้ สามารถดูรายละเอียดได้ทาง https://www.hsri.or.th/researcher/fund/detail/11546 โทร 02-832-9220, 02-832-9270, 02-832-9236