กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่พบเต่ามะเฟืองหรือเต่าทะเลสัตว์ป่าสงวน ได้ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และบริเวณชายหาดอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา รวมจำนวนกว่า 100 ฟอง ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค. 61 – เดือน ม.ค. 62 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ เต่ามะเฟือง โดยมีอุปกรณ์ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในรังไข่ จัดทำรั้วขนาดใหญ่รอบรังไข่เต่า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ ตามธรรมชาติเข้าไปรบกวนภายในบริเวณฟักไข่ และป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้หรือขโมยไข่เต่า พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เปิดให้ชมสด เพื่อให้ทุกคนทั่วไทยทั่วโลกชมได้ตลอดเวลาผ่านhttp://loveseaturtle.dmcr.go.th และร่วมมือ กับท้องถิ่นเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จัดทำป้ายข้อมูลเต่ามะเฟืองหลายป้าย ซึ่งมีผู้คนให้ความสนใจมาเดินชมตลอดเวลา ในโอกาสนี้ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ ได้ให้เกียรติแต่งบทกวีที่มี เชื่อว่า "เต่ามะเฟือง ของขวัญจากทะเล" ให้แก่กรม ทช. สำหรับมอบให้เต่ามะเฟืองหรือเต่าทะเลที่เป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนกำหนดวัดคลอดของเต่ามะเฟือง จะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ ระหว่างวันที่ 14 – 17 ก.พ. 62 หรือตรงกับช่วง วันวาเลนไทน์ สำหรับไข่เต่ารังแรกที่ชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หลังคลอดแล้วจะปล่อยให้ลูกเต่าลงทะเลทั้งหมด เนื่องจากการเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองเป็นไปแทบไม่ได้ แม้แต่ในต่างประเทศก็เช่นกัน โดยในช่วงกำเนิดเต่ามะเฟือง หน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันจัดการพื้นที่ชายหาด กั้นเขต และดูแลทะเลให้ปลอดภัยสำหรับลูกเต่า
ทั้งช่วยกันทำความสะอาดชายหาดและท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงหาดไม้ขาวและ หาดสิรินาถ จ.ภูเก็ต เพื่อช่วยลดถุงพลาสติกและขยะทะเล ให้เกิดความปลอดภัยต่อแม่เต่าและลูกเต่า นายจตุพร กล่าวว่า ในโอกาสที่ดีนี้กรม ทช. ขอเชิญชวนเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดวาดภาพและประกวดแต่งกลอน เกี่ยวกับด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและเต่ามะเฟือง เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย ตลอดจนการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนหายากและมีจำนวนที่ลดลง ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท พร้อม ใบประกาศนียบัตร สำหรับการประกวดดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การประกวดวาดภาพจิตรกรรม ภายใต้หัวข้อ "เต่ามะเฟืองกลับทะเลไทย" และการประกวดแต่งกลอน ภายใต้หัวข้อ "คุณค่าทะเลไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม"
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และรายละเอียดหลักเกณฑ์ กติกา ตลอดจนเงื่อนไขการส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่ www.dmcr.go.th/miniprojects/134/29394 พร้อมส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนเวลา 16.30 น. และประกาศผลรางวัลทั้ง 2 ประเภท ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2562 ทางเว็บไซต์ เฟสบุ๊ก และช่องทางการสื่อสารของกรม ทช.
กติกาการส่งผลงานเข้าประกวดวาดภาพจิตรกรรม
1.ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.dmcr.go.th/miniprojects/134/29394 กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน และส่งมอบพร้อมผลงาน
2.ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานวาดภาพจิตรกรรม 2 มิติ พร้อมแสดงโดยสื่อถึงหัวข้อ "เต่ามะเฟืองกลับทะเลไทย" ขนาดไม่เกิน 84 x 100 ซ.ม. (ไม่รวมกรอบ) และน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม โดยใช้สีอะคริลิค สีน้ำมัน หรือสื่อผสมโดยไม่จำกัดเทคนิคและวัสดุ มีกระบวนการสร้างสรรค์กลวิธีและเรื่องราว เนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกอย่างอิสรเสรี ภายใต้หัวข้อที่กำหนด
3.ผู้สมัครสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 ภาพ และผลงานนั้นต้องไม่เคยได้รับรางวัลและ จัดแสดงที่ใดมาก่อน และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรม
4.ผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ทางกรมฯ มีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ เผยแพร่ผลงานในเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อสารสนเทศทุกชนิด รวมถึงลิขสิทธิ์ ในการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลงานต่อไป
5.เมื่อผู้สมัครส่งมอบผลงานให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว หากผลงานเกิดความเสียหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ผู้สมัครขอสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากกรมฯ ในทุกกรณี
6.ภายหลังจากการประกาศผล ผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลทั้งหมด ให้ผู้สมัครติดต่อขอรับผลงานคืนภายในวันที่ 22 มีนาคม 2562 วัน ณ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากผู้สมัครไม่สามารถรับผลงานคืนได้ตามวันและเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้สมัครยินยอมให้กรมมีกรรมสิทธิ์ในผลงานดังกล่าว และกรมมีสิทธิ์ดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
กติกาการส่งผลงานเข้าประกวดแต่งกลอน
1.ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องแต่งคำประพันธ์ในรูปแบบของกลอน 8 จำนวน 4 บท ตามหัวข้อที่กำหนด
2.คำประพันธ์จะต้องมีเนื้อหา ไม่ลบหลู่ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่ใช้ถ้อยคำที่เป็นการดูถูก ดูหมิ่น เสียดสี และก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคม
3.คำประพันธ์ที่ส่งเข้าประกวด จะต้องเป็นบทกลอนที่แต่งขึ้นมาใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบหรือกระทำการละเมิดกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ไม่เคยส่งเข้าประกวดในเวทีอื่น หรือผลงานที่เคยนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะชนมาส่งเข้าร่วมประกวด หากตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และหากได้รับรางวัลและคณะกรรมการสืบทราบ หรือถูกตรวจพบในภายหลังจะถือเป็นโมฆะ และถูกเรียกรางวัลคืน
4. ผู้สมัครสามารถส่งบทกลอนเข้าประกวดได้เพียง 1 ชิ้นงานต่อ 1 คน เท่านั้น
เกณฑ์การพิจารณาการแต่งกลอน ประกอบด้วย
1.ฉันทลักษณ์และอักขรวิธี
2.ความคิดสร้างสรรค์และเนื้อหา
3.กวีโวหาร
4.คุณค่าและความเหมาะสมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์