กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
"บิ๊กอู๋" นำทีมหารือสถาบันการเชื่อมมานไฮมน์ เยอรมัน ยกระดับช่างเชื่อมไทยให้ได้มาตรฐานสู่สากล พร้อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0
พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ เดินทางเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ที่ทำงานสาขาช่างเชื่อม พร้อมเข้าหารือด้านความร่วมมือกับสถาบันการเชื่อม SLV Mannheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี Dr. lng Roland Boecking ผู้แทนภาครัฐ
Dr. Helmut Nies, Director of SLV และผู้แทน SLV เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือกับสถาบันการเชื่อม SLV Mannheim เพิ่มพูนศักยภาพครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมตาม แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาแรงงานไทยให้เป็น Super Worker ป้อนตลาดแรงงานพื้นที่ EEC รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งระบบราง และการเพิ่มศักยภาพแรงงานไทยเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ
สำหรับประเด็นในการหารือ ได้แก่ ความก้าวหน้าของงานเชื่อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การจัดระบบการรับรองความรู้ความสามารถด้านงานเชื่อของเยอรมนี การจัดรูปแบบการฝึก การทดสอบมาตรฐาน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาทบทวนการฝึก การจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย รวมถึงเพื่อนำมาจัดรูปแบบผังโรงฝึกงานให้เหมาะสมเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล ทั้งในศูนย์ฝึกอบรมช่างเชื่อม และการฝึกอบรมในหน่วยงานของกพร.ทุกแห่งทั่วประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการฝึกช่างเชื่อมในสาขาต่างๆ ปีละประมาณ 7,000 คน พร้อมทั้งมีศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล ตั้งอยู่ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นศูนย์ฝึกอบรม และทดสอบที่ได้รับจากสถาบันการเชื่อมสากล ( The International Institute of Welding ; IIW ) มีสิทธิในการฝึกอบรมและทดสอบรับรองฝีมือช่างเชื่อมได้ในระดับสากล เป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของช่างเชื่อมไทยให้ทัดเทียมกับระดับสากล ทั้งด้านทักษะ ความสามารถ ความรู้และความปลอดภัยในการทำงาน ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานระดับนานาชาติ ให้บริการการฝึกอบรมให้กับหน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไปในหลักสูตรช่างเชื่อมสากล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับช่วยเหลือทางวิชาการและทางด้านเทคนิคจาก SLV Mannheim
"การหารือในครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีงานเชื่อม ซึ่งประเทศเยอรมันเป็นประเทศต้นแบบของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้กับอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นผลดีกับกระทรวงแรงงาน ที่จะได้เตรียมความพร้อมและติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีงานเชื่อมที่สามารถนำมาประยุกต์ ในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศไทยได้ อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการพัฒนาศักยภาพ ครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และส่งเสริมเครือข่ายในการดำเนินงาน ต่อไป" รมว.กล่าว