กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สช.
คณะกรรมการวัตถุอันตรายแก้ไข พรบ.วัตถุอันตราย เปิดช่องคุมโฆษณาสารเคมีเกษตร แม้การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายได้ผ่านการพิจารณาของสนช.ไปแล้ว แนะตั้งอนุกรรมการร่วมกับ สคบ. ติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดก่อนเสนอแก้ไขกฏหมายอีกครั้ง
รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต หัวหน้าศูนย์ศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ สถาบันคลังสมองของชาติ ในฐานะคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมการในช่วงที่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มองว่า การควบคุมการโฆษณาสารเคมีเกษตรได้ถูกระบุไว้อยู่แล้วในมาตรา 51 โดยให้ใช้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคโดยอนุโลม ดังนั้นในช่วงการแก้ไขจึงไม่ได้มีการพิจารณาในประเด็นนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อมีกระแสความสนใจจากสังคมและภาคประชาชนที่ต้องการเห็นมาตรการควบคุมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คณะกรรมการจึงมีมติใน 3 แนวทางเพื่อให้เกิดการพิจารณาทบทวนในประเด็นดังกล่าวในอนาคต ประกอบด้วย แนวทางแรก ให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการวัตถุอันตรายและ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดูแลเรื่องการโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด แนวทางที่สองคือ เพื่อดำเนินการในระยะกลาง คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามการโฆษณาวัตถุอันตรายและสารเคมีเกษตร
“แนวทางสุดท้ายคือการปรับปรุง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอีกครั้งในประเด็นการควบคุมการโฆษณา โดยนำเอาผลจากการติดตามการโฆษณาสารเคมีเกษตรโดยคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นจาก 2 แนวทางแรกมาประกอบการพิจารณา แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขกฏหมายไม่ใช่เรื่องที่ทำได้รวดเร็วนัก ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งล่าสุดจึงมีมติให้ดำเนินการในแนวทางแรกต่อ” รศ.ดร.ทรงศักดิ์ กล่าว
อนึ่งปัจจุบันการควบคุมตลาดสารเคมีมีเพียงบทบัญญัติใน มาตรา 51 พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย 2535 เท่านั้น โดยระบุว่า “การควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลากตามมาตรา 20 (1) เป็นสินค้าที่มีการควบคุมฉลากโดยกรรมการควบคุมฉลากตามกฏหมายดังกล่าวดยอนุโลม” โดยไม่มีข้อบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรง และในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงจากปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ และการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีอย่างแท้จริงของเจ้าพนักงาน
นายพัฒนพงศ์ จาติเกตุ นักวิจัยอิสระ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยผลการศึกษาวิธีการส่งเสริมการขายสารเคมีเกษตรให้แก่เกษตรกรในระดับไร่นา พบว่าบริษัทที่ทำการตลาดส่วนใหญ่มักจะมาจากบริษัทข้ามชาติ และบริษัทไทยขนาดกลาง โดยอาศัยช่องโหว่ที่ยังไม่มีกฏระเบียบควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์การตลาด 16 วิธี เพื่อกระตุ้นยอดขายได้แก่ 1. การจับรางวัลชิงโชค 2. การสัมมนาและจัดเลี้ยง 3. การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน 4. การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์ 5. การจัดแปลงสาธิตในพื้นที่เพาะปลูก 6. การจัดแนะนำสินค้าในชุมชน 7. การให้ของแจกของแถม 8. การให้โบนัสหรือรางวัล 9. การลดราคา 10. การให้ค่านายหน้าแก่ร้านค้าหรือสหกรณ์ 11. การให้เครดิตหรือการจ่ายเงินเชื่อ 12.การจัดอบรมเกษตรกร 13.การทำยอดสะสมการใช้สารเคมี 14. การตอบแทนเมื่อลูกค้านำเงินมาชำระ 15. การโฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งวิทยุ นิตยสารทางการเกษตร แผ่นพับ ใบปลิว รถแห่ ฯลฯ 16.การจัดแสดงสินค้าหน้าร้าน หรือการโฆษณา ณ จุดขาย
ทั้งนี้จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2549 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2537-2547 ประเทศไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยว่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่อไร่ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่อัตราการใช้สารเคมีกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.2 ต่อปี