กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมเดอะพาราดิโซ เจเค ดีไซน์ นครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สู่ภูมิภาค และสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทของ สศค. โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนจากจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก ชัยนาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน และได้รับเกียรติจากนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับและบรรยายในหัวข้อ "ภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดนครสวรรค์" โดยกล่าวถึง ศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชัยภูมิที่ดีด้านคมนาคมและเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสมดุล
การเสวนาในช่วงเช้าภายใต้หัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง" โดยมีนายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค. นางสมศรี เพิงผา คลังจังหวัดนครสวรรค์ และทันตแพทย์สมยศ นะลำเลียง ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมเป็นวิทยากร มีนางสาวจริยา จิริยะสิน เศรษฐกรปฏิบัติการ สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายในปี 2561 มีการขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจภาคเหนือตอนล่างในปี 2562 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และด้านอุปทานจากภาคการท่องเที่ยวจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนได้รับแรงขับเคลื่อนจากนโยบายของรัฐบาล เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น และการที่จังหวัดนครสวรรค์มีแนวทางในการพัฒนาจังหวัดทั้งในระยะกลางและระยะยาวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ โดยธุรกิจสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจการก่อสร้างภาครัฐ การท่องเที่ยว และการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงประกอบไปด้วย ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ธุรกิจรถยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และอุทัยธานี) ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศ (2) เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย (3) อุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย (4) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และ (5) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย
หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมส่งเสริมการออมโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ การออมกับ กอช. ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบได้ออมเงินเพื่อใช้ภายหลังเกษียณ
การเสวนาช่วงบ่ายในหัวข้อ "แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ แชร์ลูกโซ่ และผู้มีรายได้น้อย" โดยมีนางสาวเอม เจริญทองตระกูล ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครื่องมือทางการคลัง สศค. นางสาวกาญจนา ตั้งปกรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีสรรพากร สศค. นายภูมิ เกลียวศิริกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการและพัฒนาหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสิน ร่วมเป็นวิทยากร สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน สำหรับปัญหาหนี้สินในระบบและ นอกระบบของเกษตรกรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีการใช้เทคโนโลยีประกอบการทำกิจกรรมทางการเกษตร มีการกู้เงินเกินกำลัง และกู้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาตัวเกษตรกรภายใต้หลัก "3 รู้จัก" ได้แก่ 1) รู้จักตนเอง 2) รู้จักออม และ 3) รู้จักกู้ ควบคู่กับหลัก "ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา" ในส่วนของธนาคารออมสินที่มีบทบาท ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมาตั้งแต่เริ่มต้น ได้ให้บริการสินเชื่อเพื่อการชำระหนี้นอกระบบเพื่อให้ประชาชนสามารถปลดตนเองออกจากการเป็นหนี้นอกระบบ โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาวให้กับประชาชนควบคู่กันไป ภายใต้หลัก "3 สร้าง" ได้แก่ 1) สร้างความรู้และอาชีพ 2) สร้างตลาดและรายได้ และ 3) สร้างวินัยทางการเงิน
สำหรับการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลังผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ที่มีผู้อยู่ในโครงการ 11.4 ล้านคน และได้มีการพัฒนาสู่มาตรการช่วยเหลือระยะ ที่ 2 หรือ"มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย หลุดพ้นจากเส้นความยากจน หรือมีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1.01 ล้านราย โดยมีผู้ที่มีรายได้ เกินกว่า 100,000 บาทต่อปีแล้ว จำนวน 115,116 ราย จากก่อนการพัฒนาที่ไม่มีผู้ที่มีรายได้เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ วิทยากรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือที่เรียกว่า "สินเชื่อทะเบียนรถ"ว่า ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ถือเป็นธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยการให้สินเชื่อภายใต้ใบอนุญาตประกอบสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถคิดดอกเบี้ยรวมค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม ได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก และเตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังเกี่ยวกับภัยทางการเงินในรูปแบบ "แชร์ลูกโซ่" ซึ่งยังมีการแพร่ระบาดอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงให้เข้าร่วมลงทุนหรือร่วมเล่น "แชร์ออนไลน์" โดยให้สัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนในอัตราที่สูงภายในระยะเวลาอันสั้น
ทั้งนี้ สศค. จะจัดเวทีสัมมนาวิชาการเวทีสานักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ประจำปีงบประมาณ 2562 อีกจำนวน 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และ กรกฎาคม 2562 ตามลำดับ