กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 กลายเป็นอีกหนึ่งมลพิษที่อยู่คู่กับคนไทยอย่างยาวนาน เพราะสาเหตุหลักสำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดยังต้องอาศัยเทคโนโลยีและแนวทางจัดการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อเรายังต้องเผชิญไปอีกพักใหญ่ สิ่งที่จะทำได้คือการรู้เท่าทันความอันตราย หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการใช้ชีวิต เพื่อให้มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายน้อยที่สุด
ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หัวหน้าโครงการผู้ทำวิจัยชุดโครงการ 'ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองในบรรยากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในเชียงใหม่และลำพูน' ชี้ว่าฝุ่น PM 2.5 (มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) มีความอันตรายต่อร่างกายสูง โดยได้อธิบายความอันตรายว่า
"ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดดังนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบ 'เฉียบพลัน' (เห็นผลใน 1 - 2 วัน) ซึ่งส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้ ส่วนผลแบบ 'เรื้อรัง' (ค่อย ๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว) คือ เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ, เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต, การเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH), อีกระบบคือเข้ารกไปทำอันตรายเด็กในท้อง ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก"
นอกจากอาการเจ็บป่วยข้างต้นแล้ว อีกโรคหนึ่งที่น่าตระหนักถึงความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 คือ "โรคถุงลมโป่งพอง" ซึ่งมีความอันตรายเช่นเดียวกับการ "สูบบุหรี่" โดย ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ ได้อธิบายว่า "การเกิดถุงลมโป่งพอง เกิดมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปที่ปอด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เม็ดเลือดขาวกินฝุ่นพวกนี้เพื่อรักษาร่างกายแต่ไม่สามารถย่อยได้จึงตายแล้วปล่อยเอนไซม์ที่เป็นน้ำย่อยมาย่อยผนังปอดอีกทีหนึ่ง ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซลดเหลือน้อยลง และทำให้เกิดอาการเหนื่อย ดังนั้นเมื่อเราสูดหมอกควันเข้าไปมาก ๆ จึงเป็นเสมือนการสูบบุหรี่"
ดังนั้นแล้วทุกคนจึงควรป้องกันการรับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) เพราะมีความต้านทานโรคน้อยและส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว รองลงมาคือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะมีผลกระทบโดยตรงคือผู้ป่วยโรคปอดและโรคหัวใจซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นเข้าไปอาจทำให้อาการกำเริบจนเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีการป้องกันนอกจากการใส่หน้ากากมาตรฐาน N95 (ป้องกันได้ 95%) ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ แนะนำว่าหากไม่สามารถหาซื้อได้หรือสวมใส่แล้วไม่สบาย "สามารถไส่หน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำแทนได้ โดยในช่วงที่มีการประกาศว่าค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และงดออกกำลังกายในพื้นที่เปิดหรืออาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิดเพราะจะทำให้มีการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมากขึ้น แม้อาศัยอยู่ในบ้านก็ควรลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การปัดกวาดฝุ่น (ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแทน) การจุดธูปเทียน และการทำอาหารในบ้าน เป็นต้น"