กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ ขยายเครือข่ายพันธมิตร Use Case ใน 5G Testbed พื้นที่อีอีซี ซึ่งเตรียมเดินเครื่องเต็มตัว ศุกร์นี้ (8 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ดึง 2 กลุ่มผู้ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ทั้งมหิดล และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ร่วมทดสอบ Healthcare Health logistics , บริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน, Connected Vehicles และรถยนต์ไร้คนขับ รวมทั้งบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลก NEC Siemens Sumitomo Cisco Microsoft และ Intel
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ได้มีการหารือร่วมกับพันธมิตรรายใหม่ๆ ที่ยื่นแสดงความจำนงขอทดสอบการใช้งานระบบ 5G ที่ศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G (5G Testbed) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงฯ ประสานงานการจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในจำนวนนี้มี 2 รายสำคัญที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของการลงทุนรับเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยจะเป็นทดสอบการใช้งาน 5G กรณีทำ Use Cases ในด้าน Healthcare Health Logistics และบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน, ด้าน Connected Vehicles และรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicles) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อขอนำอุปกรณ์ของตัวเองเข้ามาติดตั้งและทำการทดสอบอุปกรณ์ ประกอบด้วย เอ็นอีซี ซีเมนส์ ซูมิโตโม ซิสโก้ ไมโครซอฟท์ และอินเทล ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้นำบริษัทชั้นนำทั้งที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ผู้ผลิตชิปเซ็ต 5G และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และ กสทช. ลงพื้นที่ 5G Testbed มาแล้ว 2 ครั้ง มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบ vertical integration
ล่าสุด บริษัทหัวเว่ย ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์ทดสอบที่ 5G Testbed แห่งนี้แล้ว ด้วยงบลงทุนราว 160 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนจัดตั้งฐานทดสอบ 5G แห่งแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ยอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงฯ เตรียมเปิดตัว 5G Testbed ที่ศรีราชา อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้
"กระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับการทดสอบการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบ การเป็นผู้รับรองอุปกรณ์ที่จะนำเข้ามาติดตั้งว่าเป็นไปเพื่อกการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถนำอุปกรณ์เข้ามาได้โดยสะดวก ล่าสุด ยังประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทำเรื่องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้ใน 5G Testbed แห่งนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีคลื่นย่าน 26.5 GHz ย่าน 3.5 GHz และ 28 GHz ตามที่เอกชนเสนอความต้องการมา" ดร.พิเชฐกล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า โครงการทดสอบการใช้งาน 5G เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ตั้งเป้าหมายว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบนี้จะช่วยลด 5G adoption time สร้างเวทีนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมบนเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย สำหรับคลื่นความถี่มาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีนี้ และแนวทางความร่วมมือที่สำคัญในครั้งนี้ คือร่วมดำเนินการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในภาคสนาม (Field trials) ที่รองรับการทดสอบแบบ end to end และการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน บนหลักการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มีการเปิดรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันทดสอบใช้งาน (Use Cases) ที่เหมาะสมและคาดว่าจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยโดยเร็ว อีกทั้งพร้อมสนับสนุนการพัฒนาศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G (Testbed) ในพื้นที่อีอีซี ทั้งในรูปแบบการร่วมทดสอบ ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย