กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
เปิดตัวแอนิเมชั่นรามเกียรติ์-หนังสือวิวิธอาเซียน ฉบับภาษาอังกฤษ จัดมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน พร้อมเปิดพื้นที่ส่วนขยายศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน-นิทรรศการใหม่ "ASEAN Street Food" จัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรอาเซียนสู่โลก-งานเทศกาลหุ่น-งานมรดกภูมิปัญญาของอาเซียน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานพิธีประกาศปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562 (ASEAN Cultural Year 2019) พร้อมทั้งมอบหนังสือวิวิธอาเซียน (Vivid ASEAN) ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือประมวลองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรมอาเซียน ให้แก่ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาราม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม พร้อมชมวีดิทัศน์รามาวตารจิตรกรรมฝาผนังมีชีวิตและชมการแสดงชุดการเฉลิมฉลองปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ได้แก่ การแสดงชุด Kelana Topeng จากประเทศอินโดนีเซีย การแสดงชุดรจนาเสี่ยงพวงมาลัย การแสดงชุดระบำอาเซียน การแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้ากาก การแสดงโขน ตอน พระรามข้ามสมุทร การแสดงหุ่น และการแสดงชุดฟินาเล่ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วธ. ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม และถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และไทยทีวีโกลบอลเน็ทเวิร์ค (TGN) เวลา 09.30 – 10.30 น.
นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชมการสาธิตทางวัฒนธรรมและเยี่ยมชมนิทรรศการปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ณ บริเวณห้องโถงกลาง ตึกสันติไมตรี 11 จุด ได้แก่ 1.ภาพรวมการจัดกิจกรรมและโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมที่กำหนดจัดขึ้นเนื่องในวาระปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนปี๒๕๖๒ 2.กิจกรรมเดือนมกราคม: หนังสือวิวิธอาเซียนฉบับภาษาอังกฤษ 3. กิจกรรมเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม: รามาวตารจิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต 4. กิจกรรมเดือนมีนาคม-เมษายน: หนังสือมรดกอาเซียน มรดกโลก 5. กิจกรรมเดือนมีนาคม-เมษายน: มหกรรมวัฒนธรรมอาเซียนภายใต้การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม "ใต้ร่มพระบารมี ๒๓๗ ปี กรุงรัตนโกสินทร์" 6.กิจกรรมเดือนพฤษภาคม: สัมมนาและการแสดงวรรณกรรมร่วมของอาเซียน 7.กิจกรรมเดือนมิถุนายน: เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน 8.กิจกรรมเดือนกรกฎา-สิงหาคม: วัฒนธรรมสัญจรอาเซียนสู่โลก 9.กิจกรรมเดือนกันยายน: เทศกาลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 10.กิจกรรมเดือนพฤศจิกายน: เทศกาลหุ่นอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 11.รับฟังการบรรเลงเพลงต้นแบบ (Demo)สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย (Theme Song)
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับปีวัฒนธรรมแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562 ภายใต้แนวคิด "หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน" เกิดขึ้นจากการริเริ่มของกระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และที่ประชุมดังกล่าวมีมติเห็นชอบให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประชาคมหนึ่งเดียว สู่การรับรู้ของสังคมโลก ภายใต้แนวคิดASEAN: Oneness to the World ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมและโครงการตลอดปี 2562 เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยและเชิดชูเกียรติภูมิของอาเซียนด้วยมิติทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ในการเป็นประธานอาเซียน ประจำปี 2562 และเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานกลมกลืนจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน และนำสู่สายตาผู้คนทั่วโลกด้วยการผลึกกำลังประเทศสมาชิกอาเซียนเผยแพร่วัฒนธรรมในเวทีนานาชาติ
ทั้งนี้ วธ. ได้จัดทำแผนการดำเนินกิจกรรมและโครงการตลอดปี 2562 เพื่อส่งเสริมบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. ดังนี้ 1.เดือนม.ค. เปิดตัวหนังสือวิวิธอาเซียน ฉบับภาษาอังกฤษ หนังสือประมวลองค์ความรู้เรื่องวัฒนธรรมอาเซียนนำเสนอความแตกต่างและหลากหลาย แต่มีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเปิดพื้นที่ส่วนขยายศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมทั้งนิทรรศการ เวทีการแสดงและสาธิต รวมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในสาขาต่างๆ พร้อมนิทรรศการใหม่ "ASEAN Street Food" ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน
2.เดือนก.พ.-มี.ค. เปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เชิดชูวรรณกรรมรามเกียรติ์หรือรามายณะอันเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของอาเซียน ในโอกาสที่ยูเนสโก ประกาศขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ โดยนำเสนอผ่านการใช้เทคโนโลยีทันสมัยนำภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เคลื่อนไหว 3.เดือนมี.ค.-เม.ย. เปิดตัวหนังสือ "มรดกอาเซียน มรดกโลก" รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และจัด "มหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน"ภายใต้งานมหกรรมวัฒนธรรม "ใต้ร่มพระบารมี 237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" โดยจัดมหกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน ณ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
4. เดือนพ.ค. จัดสัมมนาและการแสดงวรรณกรรมร่วมของอาเซียน ซึ่งมีวรรณกรรมร่วมในภูมิภาค อาทิ รามายณะ อิเหนา สังข์ทอง กากี และศรีธนญชัย เพื่อเปิดพื้นที่การเผยแพร่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องวรรณกรรมร่วมนี้ในรูปแบบผลงานวรรณกรรม เอกสารและหนังสือ รวมถึงการแสดงนาฏศิลป์ 5.เดือนมิ.ย. จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน หนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานตามวาระการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในงานเทศกาลฯ ประกอบด้วย กิจกรรมการประกาศภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ศิลปินยอดเยี่ยมและประกาศยกย่องบุคลากร ผู้มีบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอาเซียน โดยมีศิลปินดาราดังจากอาเซียนเข้าร่วมงาน 6.เดือนก.ค.-ส.ค. จัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรอาเซียนสู่โลก (ASEAN Cultural Roadshow: Oneness to the World) การรวมตัวของสุดยอดศิลปินอาเซียนที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ภายใต้แนวคิด "หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน (Diversity, Creativity, and Sustainability)" โดยจะเดินทางไปเผยแพร่แลกเปลี่ยนในเอเชียและยุโรป โดยไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก 7.เดือนก.ย. งานเทศกาลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรในส่วนภูมิภาค และ8.เดือนพ.ย.งานเทศกาล หุ่นอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ณ โรงละครแห่งชาติ และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาผ่านศิลปะการแสดงหุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานในวาระที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ณ กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมในปี 2562 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเมืองสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมแห่งอาเซียน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่สนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ศิลปะและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น เพื่อใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การผลิต และการบริการของชุมชน สอดรับกับกรอบของโครงการเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก 2.โครงการสุดยอดศิลปะการแสดงแห่งอาเซียน เป็นการรวมตัวของนาฏศิลปินในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยที่จะนำเสนอสู่เวทีการแสดง อีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องศิลปะการแสดงร่วมกับเยาวชน นักศึกษาและผู้สนใจ และ3.โครงการวงดนตรีพื้นบ้านอาเซียน เป็นการแสดงดนตรีและบทเพลงที่รวมเอาดนตรีพื้นบ้านของทุกประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านดนตรี