กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--โฟร์ พีแอดส์ (96)
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเวทีเสวนา DDC Forum เฝ้าระวังสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในช่วงนี้ โดยเฉพาะ 2 โรค 2 ภัยสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจร และผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 พร้อมแนะนำประชาชนให้ตระหนักและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและป้องกันได้ด้วยตนเอง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค สำนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายสื่อมวลชน ร่วมเวทีเสวนาวิชาการดีดีซี ฟอรั่ม (DDC Forum) เรื่อง "การเฝ้าระวังสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่มาตามช่วงฤดูกาล ตลอดจนผลกระทบทางสุขภาพที่คุณอาจมองข้าม"
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังคงมีฝนตกประปราย ทำให้ประชาชนอาจเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าในช่วงตอนเช้าอากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ส่งผลให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศในบางพื้นที่ จึงทำให้ประชาชนและหลายหน่วยงานเป็นห่วงในเรื่องโรคและภัยสุขภาพ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนได้
ในบางพื้นที่ที่ยังมีฝนตก โรคที่ต้องระมัดระวังคือ โรคที่มาจากยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก สำหรับสถานการณ์ในเดือนแรกของปี 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ม.ค. 62) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2,834 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง ส่วน 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และราชบุรี ตามลำดับ สำหรับคำแนะนำในการป้องกันโรค คือการทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า ที่สำคัญต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขัง โดยขอให้ยึดหลัก "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
อีกโรคที่ประชาชนต้องระมัดระวังในช่วงอากาศหนาวเย็น คือโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในปีนี้พบผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐานและค่าพยากรณ์ และพบว่าอัตราป่วยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในทุกภาค ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสถานการณ์ในเดือนแรกของปี 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 16,058 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน พบมากสุดในกลุ่มอายุ 7-9 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม เมื่อป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น ลูกบิด ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือไปในสถานที่แออัด และ 4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม และหากมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย มีน้ำมูกใสๆ ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับภัยสุขภาพมี 2 เรื่องสำคัญ คือ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางจราจร และผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่สภาพอากาศหนาวในทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนเดินทางไปพักผ่อนและสัมผัสอากาศหนาวเย็นตามภูเขา ยอดดอย อย่างต่อเนื่อง ทั้งขับรถยนต์ส่วนตัวไปเอง หรือเหมารถโดยสารไปเป็นหมู่คณะ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเดินทาง ทั้งการเตรียมคนขับให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และวางแผนการเดินทางก่อนทุกครั้ง ส่วนการเตรียมรถ ขอให้ตรวจสอบสภาพรถ ตรวจเช็คลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ตรวจระบบเบรก เติมน้ำมันเครื่องให้พร้อม และควรมีเครื่องมือประจำรถและอะไหล่ต่างๆ สำรองติดรถเอาไว้ ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนในเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นั้น พบว่าในช่วงนี้ตอนเช้าอากาศจะนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ส่งผลให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศในบางพื้นที่ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ตระหนักในเรื่องนี้และติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและป้องกันตนเอง โดยยึดหลัก "รู้ หลีก เลี่ยง ใช้ ลด งด ป้องกัน ผ่านไป" รู้ : รู้เท่าทันเหตุการณ์ สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก หลีก : หลีกการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เลี่ยง : ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ให้เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ใช้ : ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นตามสถานการณ์ ลด : ลดการใช้รถยนต์ ลดการสูบบุหรี่ ลดการจุดธูป ทั้งลดขนาด จำนวน หรือดับเร็ว ไม่เผาป่า และการเผาขยะ งด : กลุ่มเสี่ยงงดออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ในวันที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ป้องกัน : รอบรู้วิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ความเสี่ยง และความสามารถในการหาสิ่งป้องกัน ผ่านไป : โรคและภัยเป็นไปตามฤดูกาล มาแล้วก็ไป แต่ต้องไม่ลืมที่จะช่วยกันลดและแก้ปัญหา ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อลงพื้นที่กรณีพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวนมากผิดปกติ หากประชาชนมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422