กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ส.อ.ท.
น้ำมัน เศรษฐกิจโลก ตัวแปรสำคัญกระทบดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธันวาคม 2550 ปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการเผยหลายปัจจัยเสี่ยงกระทบความเชื่อมั่น จี้รัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2551 ส่งเสริมนโยบายด้านพลังงานให้ชัดเจน
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 536 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของ สภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 79.8 จาก 82.3 ในเดือนพฤศจิกายน และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนธันวาคม 2549 ที่อยู่ในระดับ 85.9 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในต่างประเทศที่มีการปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อาหาร พลาสติก เนื่องจากผู้ประกอบการวิตกเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน ทำให้ปริมาณการผลิต และผลประกอบการปรับตัวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ลดลงในต่างประเทศอย่างไรก็ตามยอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น เพราะได้รับผลบวกจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนต้นทุนการประกอบการมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งมีผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาตลอด 3 เดือนเริ่มมีการทรงตัวในเดือนธันวาคม จึงทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในระดับหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการด้านต้นทุนยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากยังถูกกระทบจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และยังอยู่ในแนวโน้มที่สูงขึ้น จึงไม่สามารถช่วยพยุงให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในเดือนธันวาคม 2550 ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ค่าดัชนีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 98.1 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2550 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาง อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นมาก จากการคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการกระตุ้นจาก Mega Projects และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่คาดว่าจะออกมาในปี 2551 ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97.0 ซึ่งต่ำกว่า 100 ไม่มาก และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2550 พบว่า น้ำมัน และเศรษฐกิจโลก ตัวแปรสำคัญกระทบดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด รองลงมาคือภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ถูกกระทบจากปัญหา Sub prime ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตามด้วยปัจจัยทางการเมือง การแข็งค่าของเงินบาท และแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ
สำหรับใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการยังกังวลการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่กระทบน้อยกว่า ขณะที่มองว่าปัจจัยด้านการเมืองจะส่งผลกระทบต่อกิจการน้อยลง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาคลดลงมากในภาคตะวันออก ภาคกลาง
และภาคเหนือ ส่วนอีสานและภาคใต้กลับมีความหวังในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งภาคใต้ได้รับผลบวกจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันปาล์มและยางพารา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคาดหวังว่าหลังจากที่การเมืองชัดเจนขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยฟื้นฟูการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นและความมีเสถียรภาพทางการเมือง ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศ เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2551เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนให้ชัดเจน มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ดูแลระดับราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวนและสูงเกินไป ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ กระตุ้นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ และชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศ แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเร่งมาตรการให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม