กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โทเทิค ควอลิตี้ พีอาร์
“MICE Fast Track” ให้กลุ่มผู้เดินทางไมซ์ ชูการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และประทับใจ พร้อมดึงเอกชนร่วมระดมสมอง ดึงสุดยอดงานไมซ์เข้าไทย
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. รุกหน้าสานต่อกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2551 เน้นการพัฒนา “ไทยทีม” เสริมศักยภาพธุรกิจไมซ์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ล่าสุดบรรลุความสำเร็จด้านความร่วมมือกับภาครัฐ เปิดโครงการนำร่องช่องทางพิเศษเข้าไทยให้กลุ่มผู้เดินทางไมซ์ “MICE Fast Track” พร้อมเร่งทำงานร่วมกับภาคเอกชนสานต่องานด้านการตลาด ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า “สืบเนื่องจากทิศทางการดำเนินงานขององค์กรที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายหลักของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเซีย ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ การดึงงานเข้าประเทศ (WIN) การสนับสนุน (Promote) และ การพัฒนา (Develop) โดยในส่วนของกลยุทธ์ด้านการพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนกว่า10 องค์กร ภายใต้ ”ไทยทีม” เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ให้เป็นวาระแห่งชาติและนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลของอุตสาหกรรมนั้น ล่าสุด สสปน. ได้ลุล่วงกับภารกิจในการสร้างความแข็งแกร่งให้ไทย โดยร่วมมือกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เปิดโครงการนำร่องจัดช่องทางพิเศษในการเข้าออกประเทศให้ผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE Fast Track) สามารถเข้าประเทศ โดยลดขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และประทับใจมากยิ่งขึ้น
โครงการนำร่อง “MICE Fast Track” เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ เพื่อสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ และสร้างความประทับใจแก่ผู้เดินทาง ซึ่งจะได้รับการอำนวยความสะดวกตั้งแต่การตรวจหนังสือเดินทางของกลุ่มผู้เดินทางไมซ์ล่วงหน้า การจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปรับภายในประตูทางเข้า (gate) รวมไปถึงการนำเข้าสู่ช่องทางตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นก็จะได้รับบริการด้านสัมภาระการเดินทาง ตลอดจนถึงการส่งกลุ่มผู้เดินทางไมซ์ขึ้นรถรับส่งไปยังจุดหมายปลายทาง
นอกจากนี้ สสปน. ได้จัดเตรียมบริการพิเศษด้านเคาเตอร์ประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดการจัดงานต่างๆ รวมทั้งตอบข้อซักถามให้แก่กลุ่มผู้เดินทางไมซ์ โดยกลุ่มผู้เดินทางไมซ์ที่เข้ามาประชุมในงาน Bangkok International Conference on Avian Influenza 2008 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มกราคมศกนี้ จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการบริการจากโครงการ MICE Fast Track ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป สสปน.จะดำเนินการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองถึงการเตรียมช่องทางเฉพาะสำหรับผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ (MICE LANE) ในระยะยาวต่อไป
“การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ภายใต้การสร้างความแข็งแกร่งของไทยทีมนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และ สสปน เชื่อมั่นว่าการพัฒนาของทุกภาคส่วนนั้น จะยิ่งเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยมีการเจริญเติบโตและทำให้นานาชาติยอมรับประเทศไทยในฐานะประเทศเป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเซีย” นายณัฐวุฒิ กล่าวสรุป
และ จากการประสานงานและเป็นแกนนำอุตสาหกรรมไมซ์ของ สสปน. สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 320/2550 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์นั้นจะมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ โดยมีประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) เป็นคณะกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่ ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงเสนอนโยบายที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ การพัฒนาและส่งเสริมการตลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรม ทั้งนี้การประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์นั้น จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 มกราคม ศกนี้
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี และ คุณอริสรา ธนูแผลง ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารการตลาด สสปน.
โทรศัพท์ : 02-694-6094- 5
โทรสาร : 02-658-1411
อีเมลล์ : Parichat_s@tceb.or.th และ Arisara_t@rceb.or.th
หรือ
คุณสุภารัตน์ โพธิวิจิตร และ คุณฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน
บริษัท โทเทิค ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์: 02 260 5820
โทรสาร: 02 260 5847
อีเมลล์: aey@tqpr.com และ noo@tqpr.com