กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ห้องประกายกาญจน์ โรงแรมคริสตัส อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางอารี เตชะวันโต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา(สพร.12 สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา "แนวทางการดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0" ซึ่งจัดโดยกลุ่มงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สพร.12 สงขลา เพื่อขยายบริการภาครัฐสู่ภาคธุรกิจด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้กับผู้ประกอบกิจการ SME กลุ่ม OTOP หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ขึ้นทะเบียนรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้วยกลไกความร่วมมือภายใต้แนวทาง "ประชารัฐ" เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการ ผลักดันให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในรูปแบบการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศร่วมกัน เพื่อรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามชุดเพิ่มใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยมีผู้ประกอบการ SME ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชน ประธานสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ ผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวสงขลา และแรงงานในพื้นที่จังหวัดสงขลา เข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 100 คน
นางอารี กล่าวว่า สพร. 12 สงขลา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่มีภารกิจในการสนองตอบยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ได้ประสานงานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีมาตรฐานฝีมือแรงงาน ติดความคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบให้กับพนักงาน และปรับทัศนคติของผู้ประกอบกิจการสู่ผู้บริหารแบบมืออาชีพ เปิดกรอบความคิดสู่ SME 4.0 โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาให้คำปรึกษาเชิงลึกกับทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน พร้อมเร่งสร้างจิตสำนึกให้รู้คุณค่าทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงหาแนวทางกำจัดความสูญเสียที่แฝงอยู่ในกระบวนการทำงานผ่านกระบวนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในนามของผู้จัดสัมมนาขอชื่นชมที่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนการแข่งขันของประเทศ พร้อมรับการปรับเปลี่ยนกระบวนการและแนวคิดในการแข่งขัน เพื่อร่วมกันผลักดันให้จังหวัดสงขลาก้าวไปสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"ที่แท้จริง
นายพิชัย จงไพรัตน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า SME ในพื้นที่จังหวัดสงขลาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการแปรูปภาคเกษตร จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ประสบความสำเร็จน้อย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือจะก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แบบไม่เป็นวงจรได้หรือไม่ ในฐานะประธานสมาพันธ์ฯ ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาที่ต่อยอด เช่น การทำตลาด จะเห็นว่ามีแต่คนขาย หาคนซื้อไม่ได้ พื้นที่จังหวัดสงขลามีผู้ประกอบการธุรกิจ SME เป็นหมื่นราย แต่ยังประสบผลสำเร็จน้อย ในส่วนของสมาพันธ์ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ธุรกิจ SME ก้าวไปด้วยกัน ณ เวลานี้สมาพันธ์ฯ พยายามผลักดันโครงการ 7 วันมหัศจรรย์สงขลา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาค้างในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวสงขลามากที่สุด