Bike Travel ชวน ปั่นจักรยานสำรวจป่าสักร้อยปี ชมวิถีวัฒนธรรม งานไม้ เมืองแพร่ ท่องเที่ยววัฒนธรรม 3 พระ

ข่าวท่องเที่ยว Monday February 11, 2019 12:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--Bike Travel แพร่ หรือเมืองแป้ ถือเป็นประตูเมืองแห่งล้านนา ที่มีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีวัฒนธรรม วิถีชุมชนพื้นถิ่นที่มีความน่าสนใจ และยังคงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้าโบราณ , ผ้าทอพื้นถิ่น รวมถึงเอกลักษณ์การมัดย้อมด้วยธรรมชาติ อย่างหม้อฮ่อม ใบสัก และงานไม้ที่คงไว้ถึงเสน่ห์ในภูมิปัญญาชาวแพร่ ให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมอีกด้วย สำหรับทริปนี้ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานแพร่ ได้ชวนมาเปิดเส้นทางปั่นจักรยานสำรวจป่าสักร้อยปี วิถีวัฒนธรรมงานไม้ – เมืองแพร่ และเปิดเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรม 3 พระ พระธาตุ (วัดพระธาตุช่อแฮ) พระพุทธ(วันพระบาทมิ่งเมือง) พระธัมม์ (วัดสูงเม่น) โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมประเพณีตากธัมม์ ถือเป็นประเพณีโบราณสำคัญที่หาชมได้ยาก ที่ วัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นวัดที่เป็นตัวแทนของพระธรรม มีคัมภีร์ใบลานภาษาล้านนา ซึ่งงานประเพณีตากธัมม์ เป็นงานประเพณีที่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทย ในงานให้ร่วมกิจกรรมเขียนภาษาล้านนา ลงในคัมภีร์ใบลานและพิธีการห่อพระคัมภีร์ตากธัมม์ พร้อมเข้าชมขบวนแห่ "ตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า" เพียงแห่งเดียว พร้อมได้ชมขบวนแห่งานประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ที่ชุมชนชาวสูงเม่น ร่วมมือร่วมใจกันช่วยกันจัดถวายวัดกันอีกด้วย วัดพระบาทมิ่งเมือง ตัวแทนของพระพุทธ โดยมีพระพุทธโกศัย ศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำ จ.แพร่ เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใดแต่เดิมแยกเป็น 2 วัด คือวัดพระบาท อันมีจุดเด่นที่รอยพระพุทธบาทและวัดมิ่งเมือง ซึ่งมีพระธาตุมิ่งเมืองเป็นสิ่งสำคัญ ต่อมาภายหลัง เมื่อไม่มีเจ้าครองนครแล้วทางราชการจึงให้รวมวัดทั้งสองเข้าด้วยกัน และสร้างพระพุทธรูป เป็นพระประธานจำลองมาจากพระพุทธชินราช เรียกชื่อว่า "พระพุทธโกศัย ศากยมุนี" อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชมพิพิธภัณฑ์วิหารมิ่งเมือง รวบรวมวัตถุล้ำค่าของเมืองแพร่ อาทิ คัมภีร์ปักด้วยไหมทองคำ สร้างถวายโดย แม่เจ้าบัวไหล ชายาของเจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย และที่พลาดไม่ได้ มาแพร่ ต้องมาสักการะ พระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาลอีกด้วย วันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ไต้ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตาม จันทรคติเป็นหลัก ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ในการจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ประกอบ ไปด้วยริ้ว ขบวนของทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาลขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศี โดยการจัดงานใหญ่ประจำปี "ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง" จะตรงกับวันที่ 14-20 มีนาคม 2562 หลังจากนั้น มีโอกาสได้ไปร่วมงาน ที่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เป็นแหล่งการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้สักที่ถูกต้อง มีงานวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับทราบถึงป่าไม้สักแพร่ และได้ไปเฮือนคำแสน แกลเลอรี แหล่งเรียนรู้งานศิลปะ ที่สื่อธรรมะผ่านงานปะติมากรรม แกะสลักไม้ สะท้อนแนวคิดเชิงพุทธธรรมอย่างงดงาม โดย อาจารย์อิทธิพล ปัญญาแฝง ใครได้มาชมชิ้นงานรับรองถึงความประทับใจ หลังจากนั้น ได้ไปชมงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้สัก ที่วิสาหกิจชุมชนงานไม้ บ้านดอนมูล อ.สูงเม่น พร้อมพาชมการสาธิตนวัตกรรมใหม่ "การทำ ลายไม้ด้วยระบบไฟฟ้า และนักท่องเที่ยวสามารถ ทดลองทำได้ด้วย และได้ชม บ้านมน หรือ บ้านแปดเหลี่ยม ที่คงเอกลักษณ์บ้านไม้สักเก่าแก่ ในตำบลพระหลวง ก่อนที่จะไปสักการะพระธาตุเนิ้ง เจดีย์มีลักษณะเอียง สันนิษฐาน อาจเกิดจากแผ่นดินไหว ประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง ณ วัดพระหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จัดระหว่างวันที่ 20 - 22กุมภาพันธ์ ของทุกปี (โดยประมาณ) ปิดท้ายด้วยทีม Bike Travel มีโอกาสได้ปั่นจักรยานสำรวจเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านแม่พวก ครั้งนี้ ได้ ผู้ใหญ่น้อย เธียรมณี ผู้ใหญ่บ้านแม่พวก พร้อมด้วย ผศ. ปริญญา ชูแก้ว (อ. แป่ง) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมอนุรักษ์สถานีรถไฟแม่พวก ปัจจุบันเป็น สถานีหยุดรถไฟบ้านแม่พวก ถือเป็นอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี ๒๕๕๙ จาก สมาคมสถาปนิกสยามในสมเด็จพระเทพฯ นำคณะปั่นจักรยาน ปั่นจักรยานสำรวจป่าสักร้อยปี ชมวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชมสวนส้มโอ ที่นี่ถือเป็นชุมชนที่น่าสนใจทั้งในเรื่องอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมถึงสวนป่าสักปลูกแห่งแรกของประเทศไทย เป็นโรงผลิตอากาศธรรมชาติจากการปลูกป่าที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง บ้านแม่พวก อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ ประมาณ 30 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยชาวบ้านที่นี่ จะมีพิธีบวชป่า หรือบวชต้นไม้ เป็นประเพณีโบราณที่มีมานาน การบวชป่า เปรียบเสมือนการบวชพระของมนุษย์ คนธรรมดาจะต้องเคารพนับถือ และไม่คิดทำร้ายต้นไม้ ป่าไม้โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะโดนคำสาปแช่งหรือผลกรรมที่ร้าย ๆ ตามมา ถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นพิธีหนึ่งที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า โดยการบวชป่าร่วมกันปิดท้ายก่อนกลับมาทานมื้อเที่ยงด้วยขันโตก (ล้านนา) สไตล์บ้านแม่พวก อย่างอิ่มเอม สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจการเดินทางท่องเที่ยวที่จังหวัดแพร่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่0 5452 1127 หรือ www.gonorththailand.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ