กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชู 5 โมเดล นวัตกรรมทางสังคมจากไอเดียเยาวชน ภายใต้ "โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" ได้แก่ โมเดลตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โมเดลหลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน โมเดลศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น โมเดลศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน และโมเดลกองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น โดยโมเดลดังกล่าวจะนำไปใช้ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ "SIY" กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นกลไกการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างยั่งยืนจากพลังของเยาวชน
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเข้าไปที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/SIYPROJECT/
รองศาสตราจารย์ ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของสภาเด็กและเยาวชน และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้พัฒนายุทธศาสตร์เยาวชนกับนวัตกรรมทางสังคม ภายใต้ "โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน" (Social innovation and youth) หรือ "SIY" เพื่อพัฒนาเยาวชนผ่านการเปลี่ยนมุมมองการพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงออกสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาต่างๆ
ทั้งนี้ตั้งแต่ดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ผ่านการระดมความคิดเห็นจากตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ ที่ร่วมกันคัดเลือกจนเหลือ 5 โมเดล เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง 5 โมเดล ดังนี้
- โมเดลตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน จึงได้กำหนดบทบาทของ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณ เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงในชุมชน ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดกลไกการพัฒนาร่วมกันอย่างแท้จริง
- โมเดลหลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน นอกห้องเรียนและเพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การสร้าง "หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุนชน" จึงควรได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับ "ทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21" คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การปรับใช้และการยืดหยุ่น เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและโลก รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร มีความเป็นผู้นำ การเป็นพลเมืองที่ดี มีทักษะการสื่อสารอย่างเข้าใจทั้งการพูดและการเขียน มีความรับผิดชอบต่อสังคม รู้เท่าทันเทคโนโลยี และมีทักษะการคิดริเริ่ม
- โมเดลศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น จัดตั้งพื้นที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างโอกาส ลดปัจจัยเสี่ยง มีส่วนในการรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของชุมชน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จักวางแผน มีความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาในชุมชน ตลอดจนการลงมือทำจริงตามแผน
ที่วางไว้ โดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ช่วยเติมเต็มในระหว่างการทำงาน จนสามารถขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ถือเป็นจุดแข็งของการพัฒนางานท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง
- โมเดลศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างเด็กและเยาวชนในพื้นที่ กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสนอแนะปัญหา รวบรวมเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม สร้างกลไกการพัมนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วม โดย อปท. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น แนะนำ รับฟังข้อเสนอแนะ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและผู้อื่น ตลอดจนเป็นกระบอกเสียง สะท้อนปัญหา และส่งต่อไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป
- โมเดลกองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น กองทุนดังกล่าวจะเป็นกองทุนน้องใหม่ที่น่าจับตา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนากองทุนเพื่อให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ในรูปแบบ "กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น" จึงถือเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการส่งเสริมผลักดัน เปิดพื้นที่ให้แก่เด็กและเยาวชนตลอดจนสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล เพื่อแสดงศักยภาพของตนให้เป็นที่ประจักษ์จนเกิดการยอมรับ และความภาคภูมิใจของบุคคลต่างๆ ในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม โมเดลดังกล่าวจะนำไปใช้ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ "SIY" กว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ได้เลือกโมเดลนวัตกรรมทางตามสูตร 1+4 คือ โมเดลที่ 1 ซึ่งจะเป็นโมเดลแกนกลางที่จะนำไปใช้ในทุกชุมชน และโมเดล ที่ 2 - 5 จะได้รับการเลือกนำไปทดลองใช้ตามความต้องการชุมชนนั้นๆ โดยจะมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางสังคม รวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ตั้งเป้าให้ท้องถิ่นที่ร่วมโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนงานที่วางไว้ ภายในเดือนกันยายน 2562
โครงการ SIY จะเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ในชุมชนให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กนอกระบบ
เด็กหลังห้อง ที่หลายคนไม่อยากร่วมงานด้วยแล้ว ได้แสดงศักยภาพของตนเอง พลิกบทบาทสู่การทำประโยชน์ในชุมชนมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานของไทยกำลังมุ่งผลักดันนวัตกรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ โครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม สร้างนวัตกรทางสังคม ที่เริ่มจากการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงการการสร้างกลไกการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทักษะนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดสร้างนวัตกรรมด้านอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ในท้องถิ่นช่วยสนับสนุนเติมเต็มจนสำเร็จได้ตามเป้าหมาย รองศาสตราจารย์ ชานนท์ กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีเมล siy.innovation@gmail.com หรือเข้าไปที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/SIYPROJECT/