กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ธนาคารกสิกรไทย
ม.ขอนแก่นและธนาคารกสิกรไทย จับมือร่วมพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในการทำธุรกิจออนไลน์ การบริหารจัดการทางการเงิน หรือระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้ก้าวไปเป็นนักบริหารธุรกิจ นักบัญชี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับชาติและนานาชาติ
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาไปมาก มีการติดต่อสื่อสารผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้การขายสินค้าและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์เป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเป็นยุคที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือกันตลอดเวลา การขายสินค้าออนไลน์จึงเป็นธุรกิจและอาชีพที่มีโอกาสทำเงินได้อย่างมหาศาล เพราะสามารถขายสินค้าให้ได้กับทุกคนทั่วประเทศ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และเวลา ซึ่งประเทศไทยมีการเติบโตของอีคอมเมิร์ชสูงมาก โดยมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซในปี 2560 มีประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เป็นการขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค (B2C) มูลค่า 812,613 ล้านบาท และในปี 2561 คาดการณ์จะมีการซื้อขาย B2C เติบโต 17% มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 949,122 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียสูงสุดถึง 40% ซื้อขายผ่าน e-Marketplace 35% และซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด 25%
ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือจัดโครงการเสริมศักยภาพธุรกิจออนไลน์ หรือ KOS ON TOUR เปิดรับสมัครนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น 50 คน และประชาชนทั่วไป 20 คน ที่มีประสบการณ์การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook, Instagram, LINE@ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน รวมไปถึงการให้ความรู้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของการทำธุรกิจค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ การบริหารการจัดการทางการเงิน หรือระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2562 สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : K SME
นายวีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาปัญหาของผู้ค้าออนไลน์ พบว่า ผู้ค้าออนไลน์จะประสบปัญหาที่คล้ายๆ กัน คือ ไม่มีความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การทำการตลาด และการทำ Content ขณะเดียวกันการขายของออนไลน์กลายเป็นอาชีพเสริมของคนรุ่นใหม่ในวัยเรียน โดยพบว่าร้อยละ 90 ของนักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ทั้งหมด เป็นกลุ่มที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือทำงานประจำ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า นักศึกษาที่จบปริญญาตรีและเข้าสู่ตลาดแรงงานรวมทั้งนักศึกษาที่ไม่ต้องการทำงานประจำ อาจยึดอาชีพค้าขายออนไลน์เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพราะเป็นอาชีพที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีทุนเยอะ เพียงแค่มีสินค้าก็สามารถเริ่มขายของได้ผ่านช่องทางหลากหลายที่ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, LINE@
นายวีรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการฯ ดังกล่าว ธนาคารมีนโยบายในการส่งเสริมความรู้ในเรื่องการขายออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม และต้องการขยายโอกาสในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ค้าออนไลน์ไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ธนาคารเลือกที่จะเริ่มต้นโครงการ KOS ON TOUR เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ มีกลุ่มนักศึกษาที่ให้ความสนใจในการทำธุรกิจออนไลน์เป็นจำนวนมาก สำหรับโครงการนี้ ผู้เข้าอบรมหลักจะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเพิ่มโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจพัฒนาธุรกิจตนเองในการค้าขายผ่านออนไลน์ ก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ ธนาคารมุ่งหวังให้ผู้ที่เข้ามาเวิร์คช้อปครั้งนี้ ได้นำความรู้ไปใช้ในการทำธุรกิจอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในการต่อยอดการขายออนไลน์เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปในอนาคต
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุค 4.0 เทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ นักธุรกิจเปลี่ยนโฉมใหม่หันมาพึ่งพาโลกออนไลน์ ทำให้สามารถประกอบธุรกิจเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษา ที่สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำธุรกิจและเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เรียนในมหาวิทยาลัย ดำเนินกิจการผ่านบริการบนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะขายสินค้าบนเว็บไซต์หรือบนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค ไลน์ หรือการนำสินค้าไปโพสต์ไว้กับเว็บที่ให้บริการลงโฆษณาฟรี
การบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และธนาคารกสิกรไทย จะมีการจัดกิจกรรม เช่น งานอบรมสัมมนาให้แก่นักศึกษา บุคลากร หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน รวมไปถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของการทำธุรกิจค้าขายผ่านทางออนไลน์ การบริหารจัดการทางการเงิน หรือระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2562 นี้เป็นต้นไป และสำหรับกิจกรรมแรกได้แก่ "โครงการเสริมศักยภาพธุรกิจออนไลน์ หรือ KOS ON TOUR" เวิร์คช็อปเพื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์วัยใสวัยทีนที่ต้องการอัพแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจออนไลน์ และอยากเพิ่มความรู้ในการทำธุรกิจออนไลน์ ทั้งในเรื่องของการทำธุรกิจค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ขายง่าย ขายดี มีกำไร ลูกค้าเพิ่มได้ดั่งใจ โดยจะจัด 4 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.00 น.-16.30 น. ต่อด้วยวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม, 21 มีนาคม และ 28 มีนาคม 2562 แต่ละครั้งหัวข้อการบรรยายน่าสนใจและเหมาะกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อย่างมาก อาทิ ใช้ Social Media อย่างไรให้เวิร์ค แคปชันเจ๋งรูปโดนใจ สินค้าอะไรก็ขายดี สร้าง Content อย่างไร ให้โดนใจลูกค้า เทคนิคปิดการขาย ที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ โดยจะมีครูทิป ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจาก Digital Tips Academy เป็นวิทยากรในการเวิร์คช็อปเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2562
เราได้เข้าสู่ยุคการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด กระแสการปรับตัวของการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติรอบด้านจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิตเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานจึงต้องมีการปรับตัวอย่างมากในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ตรงกับความต้องการ ความคาดหวังของสังคมและตลาดแรงงาน
ในส่วนของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของสังคมและตลาดแรงงาน เมื่อปีการศึกษา 2560 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ได้มีแนวคิดริเริ่มจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศแห่งอาชีพ" เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษา ภายใต้กรอบการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยภารกิจของ "ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศแห่งอาชีพ" คือ ทำหน้าที่บริหารจัดการ สนับสนุน ส่งเสริม การจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ทั้งด้านทักษะความรู้ (Hard Skills) และทักษะอารมณ์ (Soft Skill) เช่น การฝึกปฏิบัติจัดทำเอกสารสมัครงาน การฝึกความคิดสร้างสรรค์ การอบรมเทคนิคการสื่อสารอย่างมืออาชีพ การเรียนรู้มารยาทสังคม หลังจากนั้นคณะฯ ก็ได้เริ่มวางกรอบแนวคิดในการพัฒนานักศึกษา โดยแบ่งการพัฒนาเป็น การพัฒนาทักษะการเรียนรู้/วิชาชีพ, ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
"เพื่อที่จะดำเนินการตามกรอบให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดเราจึงได้หาเครือข่ายที่มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อเข้ามาเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาให้กว้าง ตลอดจนเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสร้างความมั่นคงจึงได้ชักชวน ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทางการเงิน และที่สำคัญการทำระบบธุรกิจออนไลน์ ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ธนาคารกสิกรไทย เป็นสถาบันการเงินแรกๆ ของประเทศไทยที่นำเอาระบบธุรกรรมออนไลน์มาใช้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำระบบออนไลน์มาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจหรือธุรกรรมการเงินต่างๆ โดย คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้าง สนับสนุน รวมไปถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักศึกษาที่กำลังประกอบธุรกิจออนไลน์อยู่ หรือกำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ในอนาคต ทั้งในเรื่องของการทำธุรกิจออนไลน์ การบริหารจัดการทางการเงิน หรือระบบการบริหารจัดการต่างๆ จะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีศักยภาพและสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ และก้าวไปเป็นนักบริหารธุรกิจ นักบัญชี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับชาติและนานาชาติต่อไป" คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวเพิ่มเติม