กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ หนุนบริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) เร่งขยายระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ และกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ (POS) ครอบคลุม 5,000 หมู่บ้านภายในสิ้นปีนี้ ขานรับนโยบายต่อยอดโครงการเน็ตประชารัฐ สร้างเครื่องมือช่วยเกษตรกรยกระดับสินค้าชุมชนสู่การค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงฯ จะเร่งสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แล้ว โดยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ การขยายติดตั้งระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ และกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ หรือพีโอเอส (POS) ให้ครบ 5,000 จุด เพื่อช่วยให้เกษตรกรในหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐ สามารถนำสินค้าชุมชนเข้าไปขายผ่านช่องทางออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) โดยเชื่อมโยงกับเว็บไซต์Thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย (ปณท) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกค้าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ ปณท เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชัน และติดตั้งระบบ POS ที่สามารถจัดการบริหารร้านค้าปลีกในชุมชนผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ ระบบอี-เพย์เมนต์ และระบบ อี-โลจิสติกส์ ให้กับร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วประมาณ 200 จุด โดย ปณท เข้าไปติดตั้งระบบ POS สำหรับร้านค้าชุมชนที่มีความพร้อมให้เชื่อมต่อกับเน็ตประชารัฐ ส่งเสริมให้คนในชุมชนนำสินค้าที่ผลิตได้มาวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชน สอนการทำเว็บไซต์ให้เพื่อเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ Thailandpostmart.com อี-มาร์เกตเพลส ร้านค้าออนไลน์สินค้าชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่ง ปณท พัฒนาขึ้น และร้านค้าที่เป็นจุด POS ของ ปณท จะช่วยนำสินค้าชุมชนขึ้นสู่เว็บไซต์ รวมทั้งแอปพลิเคชั่น Thailandpostmart รับคำสั่งซื้อ และทำการนัดหมายเพื่อรับสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะเป็นจุดกระจายสินค้าชุมชนไปทั่วประเทศ
"สิ่งที่ดีอีทำ คือ ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในประเทศไทย โดยการทำโครงการเน็ตประขารัฐ และมีหน่วยงานของรัฐ คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ช่วยส่งเสริมต่อยอดจากเน็ตประชารัฐ ช่วยให้เกษตรกรเข้ามาขายของผ่านระบบออนไลน์ได้" นางวรรณพรกล่าว
นายมูซาคาน เดเช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่นิยมการซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เว็บไซต์ รวมถึงการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกัน ต้องการความรวดเร็ว ปณท จึงจัดตั้งทีมเคลื่อนที่ (Mobile) ทำธุรกิจเชิงรุก ด้วยการเข้าไปรับสินค้าถึงบ้านหรือร้านค้า เป็นผู้รับชำระเงินปลายทางและนำค่าสินค้ามาส่งให้กับผู้ขายภายในวันเดียวกัน อีกทั้งขยายเวลาเปิดให้บริการถึง 2-4 ทุ่มในบางพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการของลูกค้า ล่าสุดเตรียมขยายสาขาผ่านเครือข่ายปั๊มน้ำมัน ปตท และบางจากอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานไปรษณีย์เขต 2 ซึ่งพื้นที่บริการครอบคลุมเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการเติบโตด้านการใช้บริการอย่างสูง พร้อมกับการแข่งขันรุนแรง ปณท ได้พัฒนาศักยภาพพนักงานนำจ่ายไปรษณีย์ขึ้นมาเป็น Spy the Man ทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งเป็นทีมจ่ายพัสดุไปรษณีย์/ทีมขาย/รับสินค้า โดยมองเห็นจุดแข็งบุคลากรกลุ่มนี้ว่า เป็นผู้ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ และรู้จักพื้นที่ดีอยู่แล้ว รู้ว่าบ้านใดมีสินค้าอะไร รู้ว่าบ้านไหนแม้ไม่มีหน้าร้านแต่ก็สามารถเปิดจุดอี-คอมเมิร์ซได้ เป็นต้น กลยุทธ์ใหม่เหล่านี้สามารถดึงลูกค้าเก่ากลับมาจากคู่แข่งได้อย่างน่าพอใจ อีกทั้งเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อไม่ให้คู่แข่งเติบโต
นอกจากนี้ ปณท ยังได้ลงทุนนำระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาติดตั้งให้บริการที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา เพื่อรองรับปริมาณงานที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งล่าสุดมีปริมาณงานเข้ามาต่อวันราว 700,000 ชิ้น และมียอดการส่งอีเอ็มเอส 120,000 ชิ้นต่อวัน โดยได้มีการติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุแบบ Cross Belt Sorter ใช้คัดแยกพัสดุแบบกล่อง รองรับงานได้ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง มีช่องคัดแยก 77 ปลายทาง และเครื่องคัดแยกจดหมายแบบ Mixed Mail Sorter คัดแยกซองขนาดใหญ่ได้ 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง มีช่องคัดแยกเครื่องละ 90 ปลายทาง เพิ่มความรวดเร็ว ลดปัญหาการชำรุด สูญหาย หรือส่งผิดปลายทาง
สำหรับการรองรับการขยายตัวตามโครงการอีอีซีในระยะยาว ปณท เตรียมลงทุนจัดสร้างศูนย์คัดแยกไปรษณีย์แห่งใหม่บนพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะ และจะเป็นศูนย์ที่มุ่งเน้นการใช้ระบบอัตโนมติในการทำงาน ตามแผนงานระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับไปกับระยะเวลาตามแผนพัฒนาของอีอีซีเช่นกัน