กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์กล่าวว่า ผลประกอบการล่าสุดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยรายใหญ่สองราย แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะเริ่มใช้การส่งเสริมการตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะกดดันกำไรโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สาม ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)
ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับหนึ่ง หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ DTAC ได้รายงานรายได้ที่เติบโตในอัตราที่ลดลง และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ลดลง เนื่องจากแพ็กเกจแบบใช้งานข้อมูลไม่จำกัด (Unlimited Data Plan) รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS ในปี 2561 เติบโตในอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากร้อยละ 3.3 ในปี 2560 ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ DTAC ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2560 การเสนอโปรโมชั่นทางการตลาดที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ ส่งผลให้ EBITDA ของ AIS ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ EBITDA ของ DTAC ปรับตัวลดลงร้อยละ 23
ฟิทช์คาดว่าสภาพอุตสาหกรรมจะยังคงมีความท้าทายในปี 2562 โดยฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะมีการนำเสนอแพ็กเกจการให้บริการที่ดึงดูดมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต้องการแย่งชิงสัดส่วนทางการตลาดกลับคืน ซึ่งอาจจะลดทอนประโยชน์จากแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายของบริษัท นอกจากนี้กำไรของ DTAC ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำหรับการเช่าใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำหรับการให้คลื่นความถี่ 2.3 GHz ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.5 ในปี 2562 จากร้อยละ 37.8 ในปี 2561 ในขณะที่การให้ส่วนลดค่าเครื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของ AIS น่าจะมีผลกระทบต่อ EBITDA Margin ของบริษัทไม่มากนัก
ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2562 หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz และ 900 MHz โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายและการปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท น่าจะใช้เวลาหลายไตรมาส ดังนั้นการปรับตัวดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่ 2.0 เท่าในปี 2562
AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้โดยรวมอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานที่สามารถคาดการณ์ได้ และการลงทุนที่ลดลง น่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS ในปี 2562 น่าจะเป็นบวก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับคลื่นความถี่ที่ลดลง และการลดลงของการลงทุนในโครงข่าย หลังจากที่บริษัทเสร็จสิ้นการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 3G และ 4G ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 เท่าในปี 2562 จาก 1.7 เท่าในปี 2561 และทำให้AIS มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น