กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ประจำปี 2562 พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์กับงานศิลปวัฒนธรรม เนื่องในงาน"ใต้ร่มพระบารมี 237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" มีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร คณะครู อาจารย์และผู้นำชุมชน เข้าร่วม
นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีภารกิจหลักในการรักษา สืบทอด มรดกวัฒนธรรมของชาติและปกป้องเชิดชูสถาบันชาติ พระมหากษัตริย์ จึงกำหนดจัดงาน "ใต้ร่มพระบารมี 237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 2562 เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัติย์แห่งราชวงศ์จักรี และเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยและใช้ศักยภาพด้านมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่าภายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นที่รู้จัก โดยจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ประจำปี 2562 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ให้แก่ ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จำนวน 100 คน จาก 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ผู้นำชุมชนจำนวน 100 คน จาก 50 ชุมชน คณะครู อาจารย์ จำนวน 300 คน จาก 150 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 500 คน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ไปขยายผลเป็นผู้นำชมและให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ให้แก่ประชากรในแต่ละเขต แต่ละชุมชน รวมถึงนักเรียนในสถานศึกษาได้เรียนรู้ มรดกวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง ทำให้คนไทยเกิดความหวงแหน สำนึก และเชิดชู สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร่วมสืบสานมรดกวัฒนธรรมไว้คู่แผ่นดินไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากกิจกรรมอบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในครั้งนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมการสาธิตอาหาร การจำหน่ายสินค้าของชุมชนต่างเชื้อชาติ และชุมชนโบราณที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นของดั้งเดิม จำนวน 19 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนชาวจีนจากย่านสำเพ็งและเยาวราช ชุมชนมุสลิมบ้านครัวจากเขตปทุมวัน (บ้านครัวใต้)และเขตราชเทวี (บ้านครัวเหนือ) ชุมชนอินเดีย (พราหมณ์/ฮินดู/ซิกข์)จากย่านพาหุรัด/สีลม/วังบูรพา ชุมชนเวียดนาม (ญวนพุทธ) จากย่านบางซื่อ ชุมชนเขมรจากย่านสามเสน ชุมชนลาว (ชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ) จากย่านธนบุรี ชุมชนตะวันตก อาทิ ชุมชนบางรัก ชุมชนกุฎีจีน และย่านบางรัก (โปรตุเกส/เยอรมัน/อิตาลี) ย่านธนบุรี (โปรตุเกส/มอญ/ญวน) ชุมชนคลองสานจากย่านคลองสาน ชุมชนมอญบางกระดี่จากย่านบางกระดี่ (เขตบางขุนเทียน) ชุมชนเกาหลีจากย่านโคเรียนทาวน์ (Korean Town) สุขุมวิท 12 ชุมชนญี่ปุ่นจากย่านสุขุมวิท 24,55,49,26 ชุมชนพม่าจากย่านพระโขนง สุขุมวิท 71 ชุมชนชวาจากย่านสาทรใต้ ชุมชนบ้านบาตรจากย่านป้อมปราบศัตรูพ่าย และชุมชนบางลำพูจากย่านพระนคร เป็นต้น