กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--แฟรนคอม เอเชีย
โดย ซูซาน โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการฝึกอบรมโภชนาการระดับโลกของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น นักกำหนดอาหารและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองด้านโรคอ้วนและการดูแลจัดการน้ำหนัก
เลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกวัน เพราะการเปลี่ยนแปลงอาหารที่จะรับประทานเพียงเล็กๆน้อยๆในแต่ละวันก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับร่างกายได้มหาศาล
หลังวันหยุดปีใหม่และเทศกาลตรุษจีนผ่านพ้นไป ทุกคนต่างก็กลับเข้าสู่โหมดกิจวัตรประจำวันตามปกติกันอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เริ่มต้นทำตามปณิธานปีใหม่หรือ New Year's resolutions ที่ตั้งเป้าไว้อย่างจริงจังเสียที และถ้าการ "เลือกรับประทานอาหารให้ดีขึ้น" เป็นหนึ่งในปณิธานที่คุณตั้งใจจะทำให้ได้ในปีนี้ล่ะก็ ก็ได้เวลาที่เราต้องทำตามเป้าหมายให้สำเร็จกันแล้ว ก่อนจะกลับไปสู่วงจรพฤติกรรมการกินทำร้ายสุขภาพแบบเดิม
แต่แทนที่เราจะใช้วิธีแบบสุดโต่งด้วยการยกเครื่องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเสียใหม่หมด ก็เห็นทีจะไม่ได้ผลนัก เพราะวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับคุณคือ ให้เริ่มจากขั้นตอนง่าย ๆ ที่สามารถทำได้จริงเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแต่ละวันของคุณให้ดีขึ้น และหนทางสู่การรับประทานอาหารฉบับเฮลท์ตี้ ก็ควรเริ่มตั้งแต่ที่ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายวัตถุดิบเครื่องปรุงสำหรับทำอาหาร เป็นอันดับแรก
สำรวจตัวเองว่าเป็นนักจ่ายตลาดประเภทไหน
เมื่อพูดถึงเรื่องจ่ายตลาด แต่ละคนก็มีสไตล์และพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป บางคนชอบจ่ายตลาดแบบเดิม ๆ เช่นเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบที่ซ้ำ ๆ เพื่อปรุงเมนูเหมือนกันแทบทุกสัปดาห์
ในขณะที่บางคนจะวางแผนเมนูอาหารไว้ล่วงหน้าและเลือกซื้อเฉพาะอาหารและวัตถุดิบที่จดมาอย่างละเอียดเท่านั้น หรือบางคนก็ชอบแวะไปเดินดูของในตลาดหรือเข้าซูเปอร์เกือบทุกวัน แต่ไม่ว่าคุณจะชอบจ่ายตลาดแบบไหน เราขอแนะนำเคล็ดลับง่าย ๆ ต่อไปนี้เพื่อผลตอบแทนเป็นคุณค่าโภชนาการที่ดีแก่ร่างกายของเราในระยะยาว
5 เคล็ดลับจ่ายตลาดอย่างชาญฉลาดแถมสุขภาพดี
1. อ่านฉลากโภชนาการให้ครบถ้วน
ฉลากโภชนาการที่อยู่บนผลิตภัณฑ์นั้น ถือเป็นตัวช่วยชั้นดีที่คุณสามารถใช้เลือกอาหารที่อุดมไปด้วยโภชนาการต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งใช้เปรียบเทียบสินค้าที่แตกต่างกันด้วย โดยใช้วิธีพิจารณาส่วนประกอบและคุณค่าโภชนาการต่าง ๆ อาทิ ปริมาณแคลอรี่ ไขมัน โปรตีน และน้ำตาลในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับคุณ และแม้ว่าการทำความเข้าใจฉลากโภชนาการอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราสนใจหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศัพท์เฉพาะที่ปรากฏบนฉลากโภชนาการอีกสักหน่อย ก็จะช่วยให้คุณรับรู้ข้อมูลโภชนาการที่ถูกต้องจากผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือกซื้อมารับประทาน
2. เลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกวัน
ลองเปลี่ยนเมนูประจำของคุณให้เป็นเวอร์ชั่นไขมันน้อยลงดูบ้าง เช่นเปลี่ยนชนิดน้ำสลัด เนยหรือแยมทาขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากนม หรือแม้กระทั่งขนมหวาน ก็จะช่วยลดปริมาณแคลอรี่ลงไปได้มาก เพราะนม 1 แก้วปกติคิดเป็น 150 แคลอรี่และมีไขมัน 7 กรัม ในขณะที่นมปราศจากไขมันคิดเป็น 90 แคลอรี่และไม่มีไขมัน
ลองหันมารับประทานเนื้ออกไก่แทนเนื้อวัวหรือเนื้อหมูก็จะลดปริมาณแคลอรี่และไขมันลงไปได้เช่นกัน และถ้าหันมาซื้อโยเกิร์ตรสธรรมดาและเติมผลไม้และสิ่งให้ความหวานที่เราเลือกเองลงไปแทนที่จะซื้อโยเกิร์ตผลไม้สำเร็จรูป ร่างกายก็จะได้รับจำนวนแคลอรี่และน้ำตาลที่น้อยลงด้วย
เลือกรับประทานโปรตีนจากพืชให้มากขึ้น และเลือกโฮลเกรนแทนธัญพืชขัดสีทั้งหลาย ลองรับประทานข้าวกล้อง ขนมปังและขนมปังกรอบโฮลวีต ควีนัว และข้าวโอ๊ต แทนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี
3. ลองใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล
วัตถุดิบที่สดใหม่ตามฤดูกาลมักจะมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าและราคาถูกกว่าวัตถุดิบนอกฤดูกาลเป็นไหน ๆ ยิ่งถ้าคุณอยู่ใกล้กับสวนหรือฟาร์มเกษตร วัตถุดิบก็จะยิ่งสดสะอาดกว่าในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเท่า เพราะพืชผักก็คงไม่เฉาไวและยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และเราอาจจะได้เลือกสรรผักผลไม้ที่หลากหลายมากกว่าด้วย ซึ่งจะช่วยคุณได้มากกับเคล็ดลับถัดไป...
4. ลองชิมผักผลไม้ใหม่ ๆ สัปดาห์ละครั้ง
ในกรณีที่คุณไม่พร้อมจะเปลี่ยนเมนูใหม่ทั้งจาน ก็อาจจะค่อย ๆ เริ่มจากเมนูที่ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับเมนูเดิมก่อนก็ได้ อย่างผักและผลไม้ที่ล้วนแต่มีสารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ที่เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน ดังนั้นการรับประทานให้หลากหลายจึงจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ถ้าชามสลัดของคุณมักมีแต่ผักกาดแก้ว ลองเปลี่ยนมาเป็นผักกรีนคอส โรเมน (Cos Romaine Lettuce) หรือเบบี้สปิแนช (Baby Spinach) ดูบ้างก็น่าสนใจไม่น้อย และแนะนำให้ลองรับประทานผลไม้ใหม่ ๆ ก็ช่วยให้คุณได้รับคุณค่าด้านโภชนาการที่หลากหลายมากขึ้น
5. เพิ่มปลาลงไปในมื้ออาหาร
ปลาทูน่าและแซลม่อนกระป๋องคือปลาที่จับตามธรรมชาติและเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ชั้นยอด ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง คราวหน้าลองใส่เนื้อปลาแซลม่อนกระป๋องลงไปในจานผักสลัดดู คุณก็จะได้เมนูใหม่ที่ทำง่าย ดีต่อสุขภาพ แถมไม่หนักท้อง
ทีนี้เมื่อคุณมีแต่วัตถุดิบเฮลท์ตี้อยู่ที่บ้าน ก็จะสามารถเริ่มคิดต่อได้แล้วว่าจะปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้ดีต่อสุขภาพได้อย่างไร ขั้นตอนต่อไปสู่การรับประทานอาหารให้ดีขึ้นคือเปลี่ยนแปลงวิธีการปรุงอาหารแบบง่าย ๆ ในครัวของคุณเองเพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพที่ตั้งใจไว้เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างสดใสกระฉับกระเฉงและยืนยาว
กดไลค์เราที่เฟซบุ๊ค พร้อมอีกหลากหลายเคล็ดลับดี ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีและไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง ได้ที่
www.facebook.com/HerbalifeThailandOfficial
และค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้ที่ www.instagram.com/HerbalifeThailandOfficial