กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการพิจารณากรอบแนวทางการจัดทำแผนงานบูรณาการและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนเข้มแข็ง เกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเพื่อเตรียมไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 6,000 ล้านบาท จะต้องกลับไปพิจารณาให้เป็นแผนงานที่อยู่ในงบหลักซึ่งมีความสำคัญ อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตร ที่เน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถช่วยลดต้นทุน และการร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามารับซื้อสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและด้านอื่น ๆ
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้มีมติเห็นชอบให้ชะลอการนำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบ AFTA ปี 2562 โดยวางแนวทางให้ผู้ประกอบการรับซื้อมะพร้าวภายในประเทศก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในเบื้องต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหามะพร้าวแล้ว อาทิ 1) การห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ห้ามนำไปแปรสภาพโดยการกะเทาะนอกโรงงาน และแก้ไขบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข 2) ควบคุมมะพร้าวนำเข้า ณ ท่าเรือกรุงเทพ แหลงฉบัง (กรมการค้าต่างประเทศ) 3) กำหนดให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง ต้องเปิดตรวจ X-Ray และชั่งน้ำหนักทุกตู้สินค้า (กรมศุลกากร) 4) กำหนดสินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุม และกำหนดมาตรการเคลื่อนย้าย (กรมการค้าภายใน) 5) เพิ่มความเข้มงวดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (กรมวิชาการเกษตร) 6) ตั้งคณะทำงานจัดทำข้อมูลด้านการเกษตร ระดับจังหวัด (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) นอกจากนี้เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ 1. การกำหนดช่วงเวลานำเข้า 2. การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าต่อการรับซื้อผลผลิตภายในประเทศ 3. การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ ภายใต้ WTO และ 4. โครงการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง ปี 2561 ส่วนมาตรการระยะต่อไปจะควบคุมการขนย้ายมะพร้าวใน 14 จังหวัดภาคใต้ อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง กาญจนบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี กรณที่มีการขนย้ายเกินกว่า 4 ตัน (ไม่รวมน้ำหนักรถบรรทุก) (กรมการค้าภายใน)