กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศความสำเร็จ การพัฒนาสุขภาวะเด็กไทย ชู!! ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี เขตสุขภาพที่ 10 เป็นต้นแบบที่เกิดจากความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 4 กระทรวงหลัก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลงาน 3 ปี เด็กเขต10 เติบโตสมวัยจากร้อยละ 56.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 74.0 ด้านไอคิวจาก 90.88 จุด เพิ่มเป็น 91.71 จุด พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรม"ผนึกภาคี วิวาห์สร้างชาติ เด็กไทยไอคิวดี เริ่มที่ครอบครัวคุณภาพ"
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม "ผนึกภาคี วิวาห์สร้างชาติ เด็กไทยไอคิวดี เริ่มที่ครอบครัวคุณภาพ" ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า สถานการณ์เด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่าหลายประเทศในแถบเอเชีย ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติ ผลการสำรวจสถานการณ์ไอคิวเด็กเขตสุขภาพที่ 10 โดยกรมสุขภาพจิต ปี 2559 พบว่า ไอคิวเด็กต่ำกว่า 100 คือ เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 มีไอคิว 90.8 ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2557 โดยศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัยพบว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 56.5 จากปัญหาดังกล่าวศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 10 และภาคีเครือข่าย 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินโครงการเด็กไทยไอคิวดี เติบโตดี เริ่มที่ครอบครัวคุณภาพ เขตสุขภาพที่ 10 หรือ Smart kids R10 โดยมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การลงนาม MOU 4 กระทรวงเพื่อสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการพัฒนาเด็ก การระดมทุนในระดับเขต เพื่อจัดกิจกรรมร่วมแก้ปัญหาพัฒนาการเด็ก การ Kick off นโยบายการพัฒนาเด็กและสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ เด็กไทยไอคิวดี ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านพัฒนาการเด็ก การกำกับติดตามประเมินผลผลลัพธ์และการสรุปรูปแบบนี้เพื่อเป็นรูปแบบให้ระดับประเทศนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป
"ความสำเร็จของการพัฒนาเด็กเขต 10 ตลอดระยะเวลา 3 ปีถือเป็นต้นแบบที่ดีที่เกิดจากความร่วมมือประสานพลังกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็ก ผลจากการดำเนินงาน จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยและไอคิวเด็ก พบว่าเด็กปฐมวัยเขต 10 มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น ปี 2557 จากร้อยละ 56.5 ในปี 2560 เพิ่มเป็น ร้อยละ 74.0 ระดับสติปัญญาเฉลี่ยเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สำรวจโดยกรมสุขภาพจิต จากปี 2559 90.88 จุด ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 91.71 จุด ความสำคัญของการพัฒนาเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์สิ่งที่สำคัญคือโภชนาการที่จะส่งผลต่อสมองของลูก เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ความไม่เครียด และส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็กคือ กิน กอด เล่น เล่า ซึ่งเด็กที่เกิดมาต้นทุนเท่ากัน ระดับสติปัญญาเริ่มต้นก็จะไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ได้รับความใส่ใจจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง เด็กก็อาจจะกลายเป็นเด็กหลังห้อง และมีผลการเรียนต่ำ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงสติปัญญาไม่ได้แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพียงเพราะว่าเด็กขาดแรงกระตุ้น แรงจูงใจในการเรียนรู้และทุ่มเทให้เกิดการพัฒนาเป็นไปตามวัย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือทุ่มเทเพื่อให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นอย่างเต็มที่" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "ผนึกภาคี วิวาห์สร้างชาติ เด็กไทยไอคิวดี เริ่มที่ครอบครัวคุณภาพ" ในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 กระทรวงหลัก ในการพัฒนาสุขภาวะเด็กไทย และเป็นการประสานพลังภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กของเขตสุขภาพที่ 10 ให้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ภายใต้โมเดล"ระบบพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย อีสานล่าง:Smart Kids to Healthy Life (เลี้ยงลูกคุณภาพดีวันนี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันหน้า)" เนื้อหาประกอบด้วย 1) วิวาห์สร้างชาติเตรียม พร้อมมีลูกฉลาด 2) พร้อมเป็นพ่อแม่อีหลี 3) คลังนมแม่สร้างเด็กฉลาดเติบโตดี 4) กระโดดโลดเต้นเป็นวัยเรียน เติบโตสมวัย ไอคิวเกิน 100 และ 5) เป็นวัยรุ่นแก้มแดงอ่องต่อง สมองดี EQ เด่น พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นกำลังหลักของชาติต่อไป