กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เวเบอร์ แชนวิค
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำโดย นางหทัยรัตน์ อติชาติ (ที่ 2 จากขวา) ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ ได้มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการ "ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ" ระยะที่ 3 จำนวน 12,980,000 บาท โดยมี นายไตรภพ โคตรวงษา (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผู้รับมอบ การสนับสนุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้นแบบความสำเร็จในการจัดการดิน น้ำ ป่า ฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติของในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก และพัฒนาคนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการ "ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ"ระยะที่ 3 มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึง เดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 2 ปี ครอบคลุม 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูณ์ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา และอยุธยา โดยดำเนินงานผ่านการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่เครือข่ายและบุคคลทั่วไป เพื่อสร้างแกนนำถ่ายทอดองค์ความรู้ รองรับการขยายตัวของผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังลงพื้นที่ให้ความรู้ในรูปแบบของการลงแขก หรือ การเอามื้อสามัคคี เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยโครงการฯ ตั้งเป้าหมายในการจัดอบรมให้คนในชุมชนลุ่มน้ำป่าสักจำนวนไม่น้อยกว่า 960 คน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จได้ใน 42 พื้นที่ พัฒนาบุคลากรให้เป็นแกนนำอีกจำนวน 35 คน และสร้างศูนย์เรียนรู้ระดับลุ่มน้ำจำนวน 2 ศูนย์
อนึ่ง โครงการ "ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ" เป็นความร่วมมือระหว่างเชฟรอนประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ได้ดำเนินงานมานับตั้งแต่ปี 2557 และมีแผนงานสนับสนุนต่อเนื่องจนถึง ปี 2563 รวมระยะเวลา 7 ปี ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 35,920,000 บาท จากเชฟรอนประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาลงสู่การปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อนำมาเป็นเทคนิคด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นชุมชนในลุ่มน้ำป่าสักเป็นหลัก เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่จัดการได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้ในฤดูฝน น้ำจะท่วมลงสู่พื้นที่ลุ่มด้านล่างอย่างรวดเร็ว และในฤดูแล้งก็มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ นอกจากนั้น ยังเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยมากที่สุดอีกด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 1 และ 2 ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ได้บรรลุผลในการสร้างตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 75 พื้นที่ ในจำนวนนี้สามารถเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เปิดให้การอบรมได้จำนวน 6 ศูนย์ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมและอบรมด้านการจัดการน้ำไปแล้วกว่า 79,500 คน ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 3 จะขยายพื้นที่ขับเคลื่อนสู่จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา และอยุธยา เพื่อขยายผลให้เต็มพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักต่อไป