กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--ทีเอ็มบี
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จัดงาน TMB The Economic Insight 2019 'เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล' เพื่อให้บริการด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจ จำนวน 400 ราย โดยเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน พร้อมชี้ว่าในปี 2562 ผู้ประกอบการไทยควรปรับกลยุทธ์หาตลาดใหม่ๆ พร้อมพัฒนานวัตกรรมสร้างความต่างและเครือข่ายการผลิต นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาช่องทางการลงทุนในโครงการ EEC เพราะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมศักยภาพแห่งอนาคตที่พร้อมรองรับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม และมากไปด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งนี้ ทีเอ็มบี วางแผนจัดกิจกรรมเพื่อลูกค้าธุรกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า "ทีเอ็มบี มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพและคุณค่าแก่ลูกค้าธุรกิจอยู่เสมอ ด้วยเชื่อมั่นว่าธุรกิจไทยคือรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ ทีเอ็มบี จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่าธนาคาร แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงินการธนาคารผ่านบทวิเคราะห์และคำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ลูกค้าธุรกิจของเรา"
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า "สำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม โครงการ EEC จะมีส่วนยกระดับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ได้อย่างยิ่ง จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าโครงการ EEC ยังสามารถรองรับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เพิ่มอีกจำนวนมาก จากตัวเลขรายรับที่ผู้ลงทุนได้เก็บเกี่ยวจากการลงทุน ประกอบกับช่องทางการรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอันจะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โอกาสทองที่พร้อมให้ผลตอบแทนในระยะยาวแก่นักธุรกิจไทยจึงอยู่เพียงแค่เอื้อม"
ทีเอ็มบี ชี้ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีทีท่าชะลอตัวขนานใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ (1) ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD)[1] ที่ส่งสัญญาณภาคเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle (2)) ระดับราคาน้ำมัน และค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2561[2] (ราคาน้ำมันโลกลดลงถึง 35% จาก 83 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรล สู่ 53.8 ดอลลาห์สหรัฐต่อบาเรลเมื่อปลายปี 2561 ขณะที่ค่าดัชนี PMI ลดลงตลอดทั้งปี 2561 จาก 54.5 สู่ 51.5) และ (3) สถานการณ์บีบคั้นของจีน ทั้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้ค่าดัชนี PMI ของบริษัททุกขนาดติดลบ และความพยายามรัดเข็มขัดเพื่อปรับลดระดับหนี้ของประเทศลง (จีนมีระดับหนี้ 267% ของจีดีพี เป็นหนี้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 162% ของจีดีพี รวมถึงมีหนี้นอกระบบที่ต้องจัดการ) นอกจากนี้สภาพตลาดหุ้นที่ราคาตกต่ำ ก็ทำให้ระดับความมั่งคั่งของคนจีนเริ่มมีปัญหา[3]
ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในปี 2562 จะขยายตัว ด้วยแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก อัตราการเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น สำหรับการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2561 เนื่องด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปีนี้มีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ CMLV (+9.0%), อาเซียน (+6.5%), ญี่ปุ่น (+5.5%), ยุโรป (+4.5%) และสหรัฐอเมริกา (+4.5%) ตามลำดับ มีสินค้าส่งออกที่โดดเด่น คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เครื่องจักร, สินค้าอาหาร และสินค้าจากการเกษตร[4]
จากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว...ธุรกิจไทยยังคงมีโอกาสที่ดี โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ด้วยอัตราค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (เมื่อเทียบกับ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์) และระดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูง (Ease of doing business ranking ในปี 2561 ไทยอยู่อันดับ 26 ซึ่งสูงกว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน) นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับกลยุทธ์ เช่น มองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ พัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมสูงขึ้น สร้างความแตกต่างของสินค้า ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ บีโอไอ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม
โดยโอกาสทองที่สำคัญ อยู่ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 อันเป็นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อยอดจาก Eastern Seaboard ซึ่งมุ่งพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง โดยโอกาสทางธุรกิจอันดีมี 2 ส่วน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ EEC เป็นเม็ดเงินมูลค่า 988 พันล้านบาท การก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงงาน โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง มูลค่า 220 พันล้านบาท, เมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 300 พันล้านบาท, ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 มูลค่า 110 พันล้านบาท และท่าเรือมาบตะพุดเฟสที่ 3 มูลค่า 55 พันล้านบาท[5]
ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วยกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกลุ่ม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มพื้นที่โครงการ EEC ได้ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งนี้ในช่วงปี 2559 จนถึงเดือนกันยายน ปี 2561 ได้มีโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเป็นมูลค่ารวม 913 พันล้านบาท และกรอบระยะเวลาในช่วงปี 2018-2023 การลงทุนผ่านบีโอไอในโครงการ EEC มีมูลค่ารวม 600 พันล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาท และ 2.83 ล้านล้านบาท ตามลำดับ[6] โดยมีมาตรการส่งเสริมโครงการ EEC อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%[7]
[1] องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development)
[2] ที่มา: Bloomberg, PBOC, TradingEconomics, TMB Analytics
[3] ที่มา: Bloomberg, PBOC, TradingEconomics, TMB Analytics
[4] ที่มา: Worldbank, CEIC, TMB Analytics
[5] ที่มา: EECO, BOI, BOL, TMB Analytics
[6] ที่มา: EECO, BOI, BOL, TMB Analytics
[7] https://www.boi.go.th/un/Policy_EEC