กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ธนาคารกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วางวิสัยทัศน์ในการแปลงงานประดิษฐ์ของอาจารย์ไปสู่ภาคธุรกิจ กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ คือการสนับสนุน Startup ให้ใช้นวัตกรรมเหล่านี้ด้วยการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพบปะระหว่างผู้ประกอบการ อาจารย์นักวิจัย และนักศึกษา เป็นแหล่งสร้างนวัตกรรม แหล่งบ่มเพาะธุรกิจ และแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักศึกษา โดยได้จัดแถลงข่าว "Startup Ecosystem @TU" พื้นที่บ่มเพาะ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยน Startup ระหว่างประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้อง InnoHub ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริม Startup ว่า เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงธุรกิจเข้ามาเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งในระดับการเรียนการสอน การฝึกงานหรือการตั้งธุรกิจจริง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธรรมศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ โดย Startup ที่รับการบ่มเพาะไม่จำเป็นต้องเป็นบัณฑิตของธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นกลุ่มที่ใช้ไลเซนส์สิทธิบัตร นวัตกรรมที่อาจารย์ธรรมศาสตร์คิดค้นขึ้นด้วย
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเครือข่ายพันธมิตรเช่นธนาคารกรุงเทพที่ร่วมสนับสนุน Startup Ecosystem@TU โดยขณะนี้ได้มีโครงการใหม่ร่วมกันเรียกว่า Startup Exchange Program คือการส่ง Startup ไทยไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายพันธมิตรในต่างประเทศ เริ่มจากสิงคโปร์ซึ่งมีการพัฒนาเครือข่ายฐานผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้ Startup ของเราขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
"การมีฐานผู้ใช้จำนวนมากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ start up ประสบความสำเร็จในอนาคต จึงอยากเชิญชวนให้ Startup ไทยเข้าร่วมและใช้ประโยชน์จากโครงการ Startup Exchange Program ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และธนาคารกรุงเทพริเริ่มขึ้นในครั้งนี้"
ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์ กับธนาคารกรุงเทพ สอดคล้องกับแผนการส่งเสริม Startup ของธนาคารกรุงเทพ โดยธนาคารมีโครงการ InnoHub เป็นแหล่งบ่มเพาะ ทั้งนี้ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้ Startup สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมี Co-working Space ที่รองรับบริษัท Startup จำนวน 10 บริษัท และกำลังสร้างพื้นที่เพิ่มเติมเป็น Deep Tech ณ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าในระยะแรกจะมีนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานในบริษัท Startup ที่เข้ามาตั้งในพื้นที่บ่มเพาะของมหาวิทยาลัย จำนวน 50 คน และจะใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบในการขยายไปสู่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างแหล่งบ่มเพาะธุรกิจ Startup
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หนึ่งในโครงการที่ธรรมศาสตร์สนับสนุน Startup คือโครงการแลกเปลี่ยนหรือ Startup Exchange โดยจะคัดเลือก Startup ในพื้นที่มหาวิทยาลัย บริษัทละ 2 คน เพื่อไปทำงานในพื้นที่บ่มเพาะต่างประเทศ ประโยชน์ที่จะได้รับคือการเรียนรู้วิธีการทำงานของ Startup ในต่างประเทศ โอกาสและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เนื่องจากปัญหาของ Startup ไทย คือขนาดตลาดภายในประเทศที่เล็กเกินไป ส่วน Startup ที่อยู่ในประเทศก็จะเรียนรู้จาก Startup ต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีคณะกรรมการคัดเลือก Startup ที่สนใจเข้าใช้บริการพื้นที่บ่มเพาะในมหาวิทยาลัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-564-4441-79 ต่อ 1664-1665 หรือเว็บไซต์ http://tuipi.tu.ac.th/