กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ยูนิเซฟ
การปลูกต้นไม้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ คอยบ่มเพาะด้วยดินและปุ๋ยที่ดีตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้งอกงามเป็นต้นกล้า เติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง และให้พืชผลที่มีคุณค่า แต่หากเราละเลยการเอาใจใส่หรือดูแลไม่ถูกวิธี ต้นไม้นั้นก็จะเติบโตตามยถากรรม แผ่กิ่งก้านเกะกะระรานต้นไม้อื่นๆ หรือเป็นได้เพียงไม้แคระแกร็น แห้งเหี่ยว ปราศจากความสมบูรณ์
การเลี้ยงลูกก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกอย่างถูกวิธี โดยใช้สิ่งดีๆ คอยหล่อเลี้ยง ช่วยเหลือดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ลูกเติบโตสามารถเผชิญกับโลกได้ต่อไป อย่างไรก็ดี แม้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันจะทำให้พ่อแม่เข้าถึงข้อมูลในการเลี้ยงลูกได้สะดวกขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลก็คือ อาจมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องปะปนรวมอยู่ด้วย ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพของแม่และเด็กอยู่ไม่น้อย เช่น ยังพบกรณีของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม และเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการไม่สมวัย
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ พัฒนาโครงการ "๙ ย่างเพื่อสร้างลูก" เพื่อให้บริการข้อมูลในการดูแลแม่และลูก พร้อมกับแนะนำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนลูกอายุ 6 ปี ผ่านแอป Facebook Messenger โดยผู้รับบริการสามารถเข้าไปที่เพจ "๙ ย่างเพื่อสร้างลูก" www.facebook.com/9YangTH แล้วพิมพ์คำว่า Start ไปในอินบ็อกซ์เพื่อสมัครรับข้อมูลที่เหมาะกับอายุลูกของตัวเอง
ข้อมูลที่ส่งไปให้จะประกอบด้วย ข้อความ อินโฟกราฟิก และวิดีโอ เนื้อหาครอบคลุม 9 หัวข้อ ได้แก่ 1.ตั้งครรภ์คุณภาพ 2.นมแม่และโภชนาการเด็ก 3. เข้าใจพัฒนาการเด็กตามวัย 4.การเล่นและการส่งเสริมพัฒนาการ 5.เลี้ยงลูกเชิงบวก 6.ป้องกันโรคและดูแลเมื่อเจ็บป่วย 7.ความปลอดภัยป้องกันอุบัติเหตุ 8.สุขอนามัยที่ดี และ 9.บทบาทสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงคำถามรายสัปดาห์ ที่จะช่วยทดสอบความเข้าใจเนื้อหาและพัฒนาทักษะในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ยูนิเซฟเริ่มสนับสนุนกรมอนามัยตั้งแต่เริ่มโครงการ ด้วยการนำโปรแกรมโอเพ่นซอร์ส RapidPro มาใช้ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายสื่อสาร และฝ่ายนวัตกรรมของยูนิเซฟ ระดมสมองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อออกแบบเนื้อหาและรูปแบบของโครงการ ขณะเดียวกันยังได้ลงไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ปกครองที่มารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐ ในจังหวัดสระบุรีและเชียงใหม่ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของพ่อแม่ในการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาข้อมูลด้านการเลี้ยงลูก
ข้อมูลที่ได้ทำให้ทราบว่า แม่ส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน มีบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและค้นหาคำตอบในการเลี้ยงลูกผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่จะไม่ชอบอ่านเนื้อหาที่ยาวหรือวิชาการมากเกินไป ทีมผู้พัฒนาโครงการจึงออกแบบให้ส่งข้อความวันละไม่ยาวมาก แต่ได้สาระสำคัญ มีคำแนะนำที่ใช้ภาษาง่าย ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 18 เดือน นอกจากนี้ยูนิเซฟยังสนับสนุนการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถนำคำตอบจากพ่อแม่ ไปวิเคราะห์เชิงนโยบายได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยให้ทราบคำถามจากแม่โดยตรง เป็นข้อมูลที่มาจากหลายพื้นที่ ได้ทราบว่าบริการของกรมฯ มีเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญยังช่วยให้เข้าถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ หรือบางส่วนเคยมีลูกที่พิการ หรือมีความเสี่ยงแบบอื่น ได้ทราบความต้องการของแม่ส่วนนี้ ทำให้สามารถแนะนำได้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น
นายฮิวจ์ เดลานี (Hugh Delaney) หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ค่อนข้างใหญ่และดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยคาดหวังว่า พ่อแม่ที่มีลูกยังเล็ก ประมาณ 5 ล้านคน จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการสื่อสารข้อมูลแม่และเด็กที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้กับโปรแกรมอื่นๆ ได้ต่อไป
นายจักรวาล กาขุนทศ หนึ่งในผู้สมัครใช้บริการของ โครงการ "๙ ย่างเพื่อสร้างลูก" กล่าวว่า ตนเองมีลูกทั้งหมด 3 คน ลูกคนเล็กอายุ 6 ปี ที่ผ่านมาเลี้ยงลูกจากประสบการณ์ที่พ่อแม่เคยเลี้ยงตนเองมา หลายครั้งก็ไม่เข้าใจพฤติกรรมของลูกที่แสดงออก ทำให้ตีความคลาดเคลื่อน แต่หลังจากได้รับข้อมูลจากทางโครงการนี้ ทำให้รู้สึกมั่นใจในการเลี้ยงลูกมากยิ่งขึ้น เพราะมีเครื่องมือที่คอยให้คำแนะนำที่เข้าใจง่ายและถูกต้อง
ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่า การเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้จะต้องใช้ต้นทุนที่สูง แต่กลับลืมไปว่า การสร้างคุณภาพให้กับลูกนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางวัตถุเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ทุกคนต่างมีต้นทุนพื้นฐานในการเลี้ยงลูกที่เหมือนกันก็คือ กำลังใจและความรัก ขณะที่โครงการ "๙ ย่างเพื่อสร้างลูก" จะเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาทักษะในการเลี้ยงดูและเติมเต็มคุณภาพ เพื่อให้การเลี้ยงลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคมต่อไป