กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--การยางแห่งประเทศไทย
วันนี้ (15 ก.พ.62) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดโครงการและส่งมอบสนามตะกร้อจากยางพาราแก่เทศบาลนครตรัง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมด้านการดำเนินงานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ของ กยท. โดยมี นายเสนีย์ จิตตเกษม ประธานอนุกรรมการ CSR เป็นตัวแทนของ กยท. ส่งมอบสนามตระกร้อจากยางพารา พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการ CSR ผู้บริหารของ กยท. ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง อ.เมือง จ.ตรัง ชู นวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อส่งเสริมทักษะด้านกีฬาแก่เยาวชน เสริมสร้างสุขภาพที่ดีเป็นแหล่งออกกำลังกายแก่ผู้อาศัยในชุมชนและสังคม ควบคู่การส่งเสริมให้แปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่ายาง ตลอดจนเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ
นายเสนีย์ จิตตเกษม กรรมการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานอนุกรรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของ กยท. เผยว่า กยท. เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนากิจการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศ ซึ่ง กยท. มีความตระหนักและมองเห็นความสำคัญในการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด จึงได้จัดทำโครงการนวัตกรรมยางพาราเพื่อสังคม ภายใต้แผนการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ กยท. ประจำปี 2562 เป็นการร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ ชุมชน และช่วยเหลือสังคมโดยใช้ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากยางพารา เน้นการดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมทั้งจากคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง กยท. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับกิจกรรมสร้างสนามตะกร้อปูพื้นยางเพื่อมอบให้แก่เทศบาลนครตรังในครั้งนี้ คือการนำยางพารามาแปรรูปเป็นแผ่นยางแล้วปูพื้นสนามตะกร้อแทนการปูพื้นซีเมนต์แบบทั่วไป ถือเป็นกิจกรรม CSR ที่สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราในประเทศให้มากขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราอีกทางหนึ่ง
"ยางพารามีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ มีความยืดหยุ่นและสามารถรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องรับแรงกระแทก เช่น ปูพื้นสนามกีฬา เพราะสามารถลดแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเท้า ในขณะออกกำลังกาย อีกทั้งยังลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแผ่นยางปูพื้น 1 แผ่น มีขนาดกว้าง 33 ซม. ยาว 33 ซม. หนา 2.5 ซม. น้ำหนักประมาณ 3.8 กิโลกรัม โดยการปูแผ่นยางบนพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะต้องประกอบด้วยแผ่นยางจำนวน 9 แผ่น มีวัตถุดิบเป็นยางแห้งประมาณ 10 กิโลกรัม/ 1ตารางเมตร ครั้งนี้ กยท. สนับสนุนการปูพื้นสนามตะกร้อแก่เทศบาลนครตรัง เป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 130 ตารางเมตร มีการใช้ยางแห้งประมาณ 1,300 กิโลกรัม มาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นแผ่นยาง ซึ่งแผ่นยางพาราที่นำมาปูพื้นสนามตะกร้อ
เป็นงานวิจัยของฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. ที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยาง เลขที่ มอก. 2739-2559 จึงถือได้ว่าเป็นการนำงานวิจัยของ กยท. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของนักกีฬาและคนในชุมชนให้มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย" นายเสนีย์ กล่าวเพิ่มเติม