กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ากระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนหัวข้อ "วันมาฆบูชา" สำคัญอย่างไร จากกลุ่มตัวอย่าง ๕,๓๓๕ คนทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ ๗๔.๕๗ วันมาฆบูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์"แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะหรือเดือน ๓ และร้อยละ ๖๕.๕๓ ตอบว่า มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย
สำหรับกิจกรรมที่จะประชาชนจะทำในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๖๒ ร้อยละ ๕๖.๑๗ บอกว่า ตักบาตร รองลงมา ร้อยละ ๕๔.๗๔ ทำบุญ ทำทาน ร้อยละ ๔๗.๕๙ ลด ละ เลิก อบายมุข ร้อยละ ๔๔.๕๒ ชวนเพื่อน/คนในครอบครัว ไปวัด ร้อยละ ๔๔.๔๐ เวียนเทียน ร้อยละ ๓๔.๘๓ ฟังพระธรรมเทศนา ร้อยละ ๒๗.๕๙ ถวายสังฆทาน ร้อยละ ๒๕.๕๑ ถือศีล ๕ ศีล ๘ ร้อยละ ๒๕.๕๑ เข้าวัดปฏิบัติธรรม และร้อยละ ๒๐.๗๘ สวดมนต์ที่บ้าน
นอกจากนี้ จากการสอบถามความเห็นว่า หลักธรรมใดที่ควรยึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในช่วงวันมาฆบูชา ร้อยละ ๗๒.๘๙ บอกว่า ศีล ๕ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด และ เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และร้อยละ ๔๔.๒๕ โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องใส ร้อยละ ๓๕.๑๒ อริยสัจ ๔ ประกอบด้วย ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สมุทัย สาเหตุแห่งทุกข์นั้น นิโรธ ความไม่มีทุกข์ และ มรรค หนทางแห่งการดับทุกข์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ต้องแก้ไข ได้แก่ ๑.การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาพุทธมาทำให้เกิดรายได้หรือข้าวของเงินทองให้กับตนเอง ๒.ประเด็นด้านลบที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ๓.บุคคลที่แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และหลอกลวงรับบริจาคเงิน และ๔.พระสงฆ์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฯลฯ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า คิดว่ามีวิธีการใดที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าวัดมากขึ้น ได้แก่ ๑.จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา รณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเข้าวัด ปฏิบัติธรรม การทำความดี ถือศีล ๕ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือทุกวันพระ โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมเชิญชวน อาทิ ดารา ศิลปินนักร้อง เป็นต้น ๒.ส่งเสริมเด็กนักเรียนให้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ๓.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนควรบูรณาการร่วมกันจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชน และ ๔.พระสงฆ์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเทศน์ที่ทำให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และแฝงไว้ด้วยคำสอนที่เข้าใจง่าย
ทั้งนี้ เมื่อถามว่ากิจกรรม/ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสานและฟื้นฟู ได้แก่ ๑.การประกวดสวดมนต์ แข่งขันตอบปัญหาธรรมะ เพราะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ สอดแทรกความรู้ สาระที่เป็นประโยชน์ และช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น และ ๒.การปฏิบัติธรรม และการนั่งสมาธิ เพราะคนยุคสมัยใหม่ไม่ค่อยนิยมการเข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่การจะสืบสานก็ควรปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยไม่ย่ำอยู่กับที่ จะทำให้คนยุคใหม่เข้ามาสนใจมากขึ้นได้