กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมเครือข่ายวิจัยวัณโรค "Annual conference for Thailand Tuberculosis Research Network (1st ThaiTURN meeting)" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จุดแข็งจุดอ่อนของงานวิจัยและการดำเนินงานด้านวัณโรคที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนงานวิจัยด้านวัณโรคระดับชาติในการยุติวัณโรค ในระยะ 1 ปี และ 5 ปี ตลอดจนการพัฒนากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการศึกษาต่างๆ เครือข่ายโรงพยาบาล หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น WHO, JICA เครือข่ายวิจัยวัณโรคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 130 คน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวบรรยายในหัวข้อ "Thailand National TB research roadmap" ว่า วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ต้องร่วมมือกันทั้งเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 ก.ย. 2560 เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแลรักษาและควบคุม
วัณโรค โดยสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และสอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ ภายใต้มาตรการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานวัณโรคอย่างเป็นระบบและสามารถนำมาขยายผลในภาพรวมของประเทศได้ ซึ่งหลังจากมีการลงนามความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 เครือข่ายวิจัยวัณโรคได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดลำดับความสำคัญประเด็นงานวิจัยและโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำ Road Map ของงานวิจัยวัณโรค โดยแบ่งโจทย์วิจัยออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1) งานวิจัยที่บูรณาการโดยสหสาขาวิชาชีพ เช่น การศึกษาต้นทุนของความเจ็บป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยวัณโรคทุกกลุ่ม มาตรการป้องกันทางสังคม การศึกษาวิจัยมาตรการที่มีผลกระทบสูงสุดในการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวัณโรค
2) งานวิจัยด้านระบาดวิทยา เช่น การศึกษาวิจัยภาระโรค สถานการณ์ ปัจจุบัน และการกระจายของวัณโรคดื้อยาหลายขนาน
3) งานวิจัยเชิงระบบ เช่น การพัฒนารูปแบบการดูแลที่สามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการดูแลป้องกันวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง อาทิ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขัง ฯลฯ
4) งานวิจัยเชิงปฏิบัติการและการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น วิธีการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่มีความคุ้มค่าและเหมาะสมในบริบทประเทศไทย
5) งานวิจัยทางด้านชีวการแพทย์ เช่น การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมต้นแบบสำหรับตรวจวินิจฉัย
วัณโรค และวัณโรคดื้อยาหลายขนานในบริบทประเทศไทย ซึ่งตามแผนงานวิจัยด้านวัณโรคระดับชาติดังกล่าว สวรส.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ ควบคุมและติดตาม เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาได้จริง ดังนั้นเวทีในวันนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการ และประสบการณ์การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือและการบูรณาการงานวิจัยวัณโรคทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เพื่อมุ่งเป้าไปสู่การยุติวัณโรคในอนาคต
นอกจากนี้ในเวทีดังกล่าว ยังได้มีการนำเสนองานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวัณโรคจากนักวิชาการ/นักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ อาทิหัวข้อ ภาระทางเศรษฐศาสตร์ในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทย การดำเนินงานและควบคุมวัณโรคในประเทศญี่ปุ่น เครือข่ายงานวิจัยวัณโรคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม
การพัฒนาการวินิจฉัยวัณโรค งานวิจัยด้านชีวการแพทย์ มุมมองทางสังคมเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทย เป็นต้น