กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตได้เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม จำนวน 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้ง ทั้งในและนอกเขตเทศบาล ตามโครงสร้างประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 11,182 คน มากกว่าผู้สมัครในปี 2554 ที่มีเพียง 2,422 คน นั่นคือผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นร้อยละ 360 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งสัดส่วนที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายต่อจำนวน ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงเกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมากที่ส่ง ส.ส. เพื่อหวังได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. มีจำนวนมากมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวของคนไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย
จากตัวเลขของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มี 51.44 ล้านคนในการสำรวจครั้งนี้พบว่าคนไทยมีความตื่นตัวที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 83 ผู้ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ได้ใช้สิทธิค่อนข้างต่ำคือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจในการเลือกตั้งอยู่ในร้อยละ 13
ผลการสำรวจโดยใช้การประมาณการว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิ ร้อยละ 75 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด (ราว 38.6 ล้านคน) โดยเลือก 12 พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับ ดังนี้ คือ 1.พลังประชารัฐ 8.310 ล้านเสียง (21.5%) 2.ประชาธิปัตย์ 7.045 ล้านเสียง (18.3%) 3. เพื่อไทย 6.532 ล้านเสียง (16.9%)4. ภูมิใจไทย 3.153 ล้านเสียง (8.2%) 5. อนาคตใหม่ 2.874 ล้านเสียง (7.4%) 6. รวมพลังประชาชาติไทย 2.216 ล้านเสียง( 5.7%) 7. เสรีรวมไทย 2.150 ล้านเสียง (5.6%) 8. ชาติไทยพัฒนา 1.626 ล้านเสียง (4.2%) 9. เพื่อชาติ 1.317 ล้านเสียง (3.4%) 10. ชาติพัฒนา 1.215 ล้านเสียง (2.19%) 11. ประชาชาติ 0.989ล้านเสียง (2.6%) 12. ไทยรักษาชาติ 0.887 ล้านเสียง (2.3%)
จากข้อมูลข้างต้นนี้ ผู้สำรวจใคร่ตั้งข้อสังเกตว่า
1. คะแนนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงแนวโน้มไม่ใช่คะแนนเสียงจริง คะแนนจริงจะทราบได้ในราวสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
2. คะแนนความนิยมรวมอาจจะแตกต่างจากจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดที่ได้รับเลือกตั้งได้ นั่นคือพรรคที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดอาจไม่ได้ ส.ส. เขตมากที่สุด
3.พรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ไม่ครบ 350 เขต จะเสียเปรียบพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ครบทุกเขตในแง่ของการนับคะแนนและจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เว้นแต่พรรคการเมืองนั้นจะสามารถชนะ ส.ส. เขตเลือกตั้งได้อย่างเป็นกแบเป็นกำ ตัวอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยที่ส่ง ส.ส. เพียง 350 เขต เพราะต้องการแบ่งพื้นที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคให้แก่พรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนเสียงรวมของเพื่อไทยมาเป็นอันดับ
ที่ 3
4. ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคที่ได้คะแนนรวมสูงคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย อาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อย หรือไม่ได้เลย แต่พรรคที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า คือ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ รวมพลังประชาติไทยและพรรคที่เหลือทั้งหมดจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะอาจมี ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต
5. เนื่องจากการสำรวจทำกับ 12 พรรคการเมืองที่น่าจะได้คะแนนนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น อย่างไรก็ดีน่าจะมีพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่น่าจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อต่ำกว่า10 คน ลงมาอีกหลายพรรค และ
6. ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคค่อนข้างแน่นอน ถ้าพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่เข้าร่วมน่าจะเป็นภูมิใจไทย รวมพลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา หากมีการเลือกตั้งวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีเสียงรวมกันมากกว่า 300 เสียง แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่จะเข้าร่วมได้แก่ อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติและอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาอาจกลายเป็นตัวแปรทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งที่จะเสริมความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ หากมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า 200 เสียง และหากมี 3 พรรคหลังเข้าร่วมจะมีเสียงรวมกัน 270 เสียง แต่ถ้า 3 พรรคหลังไม่เข้าร่วมกัน พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะจะมีเสียงประมาณ 200 เสียงเท่านั้น ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพพอ