กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 64.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลายและการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศอาจประสบความสำเร็จก่อนที่กำแพงภาษีรอบใหม่จะมีผลบังคับใช้ (วันที่ 1 มี.ค. 62) โดยผู้แทนด้านการค้าของสหรัฐฯ นาย Robert Lighthizer และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย Steven Mnuchin เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 14-15 ก.พ. 62 เพื่อเจรจาทางการค้าในการประชุม principal-level ซึ่ง Reuters คาดว่าสหรัฐฯ ยังต้องการต่อรองและกดดันจีน ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนที่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นล่าสุด ประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่าการเจรจาด้านการค้ากับจีนในขณะนี้เป็นไปได้ด้วยดี
- ด้านสถานการณ์ในเวเนซุเอลา ล่าสุดกลุ่ม นาย Guaido รุกคืบยึดอำนาจด้านการบริหารจัดการ บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา PDVSA โดยประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร ชุดใหม่ อนึ่ง นาย Guaido ประกาศผู้แทนเวเนซุเอลาประจำสหประชาชาติมีสิทธิ์บริหารจัดการบัญชีธนาคารของสถานทูตเวเนซุเอลาประจำกรุงวอชิงตัน เพื่อตัดแหล่งเงินสนับสนุนประธานาธิบดี Maduro มาตรการข้างต้นอาจเพิ่มปัญหาภายในบริษัท PDVSA และกระทบต่อปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ
- กองกำลังติดอาวุธ Libyan National Army (LNA) ของนายพล Khalifa Haftar ซึ่งประกาศตนเป็นอีกรัฐบาลทางฝั่งตะวันออกของลิเบีย แถลงว่าฝ่ายตนได้เข้าควบคุมแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (กำลังการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน) คืนจากกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งปิดล้อมแหล่งดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 61 โดยไม่มีการปะทะกัน (เดิมแหล่ง El Sharara อยู่ในความควบคุมของอีกรัฐบาลซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กรุง Tripoli และเป็นรัฐบาลที่นานาประเทศรับรอง)
- รายงานฉบับเดือน ก.พ. 62 ของ IEA ระบุว่าปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในเดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 5.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 2,858 ล้านบาร์เรล
- Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 32,062 สัญญา มาอยู่ที่ 266,057 สัญญา
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,050 สัญญา มาอยู่ที่ 128,307 สัญญา ทั้งนี้ CFTC จะทยอยรายงานย้อนหลังในช่วงที่เกิด Partial Government Shutdown ในสหรัฐฯ ทำให้รายงานตัวเลขล่าช้ากว่า ICE
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 857 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2
- รายงานฉบับเดือน ก.พ. 62 ของ Energy Information Administration (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 790,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 450.8 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ทำสถิติสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันลดอัตราการกลั่นมาอยู่ที่ 85.9% ต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 ปี
กรมศุลกากรเกาหลีใต้รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 5.9 % อยู่ที่ระดับ 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ลดลงจากปีก่อน 76 % อยู่ที่ระดับ 53,676 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้นโดย ICE Brent แตะระดับสูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 61 อยู่เหนือระดับ 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ที่ระดับ 55.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดในปีนี้ที่ 55.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล หลัง Reuters รายงาน Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย หยุดดำเนินการแหล่ง Safaniyah บางส่วน ซึ่ง Safaniyah เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ผู้ค้ากังวลต่ออุปทานน้ำมันโลกตึงตัว ซ้ำเติมที่สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา และอิหร่าน อีกทั้งอุปทานน้ำมันดิบจากลิเบียอาจลดลงจากความไม่สงบภายในประเทศ ให้จับตามองความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไนจีเรีย หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีนาย Muhammadu Buhari เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี จากเดิมในวันที่ 16 ก.พ. 62 ไปอีก 1 สัปดาห์ ขณะที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Niger Delta Avengers (NDA) ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่การผลิตน้ำมันทางภาคใต้ แสดงท่าทีต่อต้านประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และสนับสนุนพรรคคู่แข่ง People's Democratic Party ซึ่งนำโดยอดีตรองประธานาธิบดี นาย Atiku Abubakar และติดตามการเจรจาทางการค้าระหว่างผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ นาย Robert Lighthizer และรองนายกรัฐมนตรีจีน นาย Liu He ในสัปดาห์นี้ ที่กรุง Washington ซึ่งประธานาธิบดี Donald Trump แถลงข่าวว่าใกล้จะบรรลุ "Real Trade Deal" ที่สุดตั้งแต่มีการเจรจา และจะยกเลิกอากรสินค้าขาเข้าจากจีน หากสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ตลาดมองว่าอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีประธานาธิบดี Trump ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อโยกงบประมาณความมั่นคงมาสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโก โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งพรรค Dermocrats เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55.0-59.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของอินเดีย, ศรีลังกา,ปากีสถาน และอินโดนีเซีย ประกอบกับ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 62 เกิดเหตุเพลิงไหม้หน่วย Crude Distillation ที่โรงกลั่น Wood River (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 ในรัฐ Illinois ประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม บริษัท China Petroleum and Chemical Corporation (Sinopec) ของจีนแผนส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่น Guangzhou (กำลังการกลั่น 264,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 25% อยู่ที่ 7,600 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินแถบเมดิเตอร์เรเนียนซบเซา เนื่องจากความต้องการใช้ไม่มากนัก ขณะที่แรงซื้อจากแอฟริกาเหนือลดลง ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 258.3 ล้านบาร์เรล และ International enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 420,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 16.46 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของอินเดียและอุณหภูมิที่หนาวเย็นกว่าระดับปกติในยุโรปทำให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลในเอเชียแข็งแกร่งเพราะผู้ค้าน้ำมันจ้างเรือ VLCCs ต่อใหม่ จำนวน 2 ลำ ชื่อ Ascona และ Olympic Laurel บรรทุกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปแอฟริกาตะวันตก ปริมาณรวม 4 ล้านบาร์เรล และว่าจ้างเรือ VLCCs ชื่อ Dijilah และ Front Defender บรรทุกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยุโรป ปริมาณรวม 4 ล้านบาร์เรล เพื่อส่งมอบในเดือน มี.ค. 62 อนึ่ง Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปตะวันตกกำลังลดอัตราการกลั่นลงเนื่องจากค่าการกลั่นตกต่ำ ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.พ. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 160,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.43 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 140.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.0-81.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล