กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เผย 5 วิสาหกิจชุมชน พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วปัง! ผ่านการดำเนินงานไปรษณีย์เพิ่มสุข ภายใต้โครงการ "ไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" หนุนชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบคลุม 14 พื้นที่ทั่วประเทศ และมีสินค้าที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 5 ชุมชน อาทิ ข้าวฮางทิพย์บ้านกุดจิก สายพันธุ์ข้าว GI คุณภาพดีจากบ้านกุดจิก จ.สกลนคร ที่พร้อมหุงสุกเสิร์ฟทุกครัวเรือน ผ้าทอเกาะยอแบรนด์ยอทอมือ สะท้อนอัตลักษณ์งานฝีมือสุดประณีต ปลุกเสน่ห์ของผ้าทอท้องถิ่น ชารางแดง แบรนด์ชารากุล สมุนไพรพื้นถิ่นจากเมืองนนท์ การันตีคุณภาพด้วย GAP และแบรนด์ไปรษณีย์เพิ่มสุข ไข่เค็ม อสม. ไข่เค็มออร์แกนิคคุณภาพ พร้อมส่งขายจากอำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี ถึงทุกพื้นที่ทั่วไทย พุทรานมสดแบรนด์ "ทันสุข" พุทราหวานบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์ เนื้ออร่อย ตรงตามมาตรฐาน GAP พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ไปรษณีย์ไทย ยังคงเดินหน้าพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานไปรษณีย์เพิ่มสุข ภายใต้โครงการ "ไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ที่เน้นลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ส่งเสริมความรู้เชิงลึกในด้านต่างๆ ทั้งการจัดอบรมกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ เสริมเทคนิคปรับลุคผลิตภัณฑ์ให้สะดุดตา ส่งเสริมการขายแบบออนไลน์ที่เน้นซื้อง่าย-ขายคล่องผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทย ตลอดจนผลักดันให้ทุกผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่น่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการปรับภูมิทัศน์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มคืนสู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ได้ทำงานร่วมกับชุมชนรวม 18 แห่ง ครอบคลุม 14 พื้นที่ทั่วไทย สู่การพัฒนาเป็นผลิตผลที่เห็นเป็นรูปธรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้วิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง
"ส่งต่อเมล็ดข้าว GI คุณภาพดีจากบ้านกุดจิก ที่พร้อมหุงสุกเสิร์ฟทุกครัวเรือน" - นางรุ่งอรุณ ก่ำจำปา เลขานุการกลุ่มข้าวฮางทิพย์ บ้านกุดจิก: "ข้าวฮางทิพย์ สายพันธุ์ข้าว GI พื้นถิ่นจากบ้านกุดจิก" กล่าวว่า จากการเข้าร่วมโครงการฯ กับไปรษณีย์ไทย เป็นเวลามากกว่า 3 ปี ทำให้กลุ่มข้าวฮางทิพย์มีความรู้เพิ่มเติมเรื่องการแปรรูป และสามารถพัฒนาสินค้าจนได้รับมาตรฐาน อย. รวมทั้งสามารถขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ข้าวฮางทิพย์ยังเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง สะท้อนจากปริมาณคนที่ติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 ทางชุมชนมีแผนพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้มีความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกแก่คนไทย โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายและขนส่งผ่านเครือข่าย ที่ทำการไปรษณีย์
"ปลุกเสน่ห์ของผ้าทอท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง" - นางสาวยมนา สินธุรัตน์ ประธานกลุ่มทอผ้าร่มไทร: "ผ้ายอทอมือ สะท้อนอัตลักษณ์งานฝีมือสุดประณีต" กล่าวว่า ในอดีตผ้าทอที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เผชิญกับข้อจำกัดเรื่องช่องทางการจำหน่าย และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น เป็นผลให้รายได้ของชุมชนไม่ต่อเนื่อง แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้รับคำแนะนำจำนวนมาก ทั้งด้านการปรับรูปลักษณ์แพคเกจจิ้งให้สวยงาม มีมาตรฐาน และสามารถมองเห็นผ้าแต่ละลวดลายได้อย่างชัดเจน ภายใต้แบรนด์ "ยอ ทอ มือ" นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังได้ให้การสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ เป็นผลให้ผ้าทอของชุมชนเกาะยอเป็นที่รู้จักอีกครั้ง และมีออเดอร์เข้ามาทั้งในช่องทางไลน์อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้สมาชิกและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง "การันตีคุณภาพด้วย GAP และ แบรนด์ "ไปรษณีย์เพิ่มสุข" สร้างรายได้พุ่งหลายเท่าตัว" - นายปรีชา เอกนาวากิจ ผู้ประกอบการ ตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนชารางแดง: "ชารากุล สมุนไพรพื้นถิ่นจากเมืองนนท์" กล่าวว่า แม้ระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการฯ จะสั้นเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็ทำให้ "ชารางแดง" ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นถิ่น ได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งจากกลุ่มคนทำงานและนักท่องเที่ยว จากการแปลงโฉมผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ ที่เดิมเป็นเพียงถุงพลาสติกธรรมดา สู่ถุงซิปล็อคที่มีลวดลายสวยงาม พร้อมทั้งการันตีคุณภาพสินค้าด้วยมาตรฐาน GAP และแบรนด์ "ไปรษณีย์เพิ่มสุข" พร้อมกันนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังได้ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนในชุมชนให้กลายเป็น "อาคารไปรษณีย์เพิ่มสุข" เพื่อเป็นหน้าร้านสำหรับจำหน่ายสินค้าชุมชน ทำให้ชารางแดงเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาปั่นจักรยาน โดยที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชารางแดงได้หลายเท่าตัว
"ไข่เค็มออร์แกนิกคุณภาพ พร้อมส่งขายทุกพื้นที่ทั่วไทย" นางประสงค์ หีตอนันต์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไข่เค็ม อสม. จังหวัดสุราษฎร์ธานี: "ไข่เค็ม GI ฟองใหญ่ ไข่แดง มันอร่อย เค็มกำลังดี ตามแบบฉบับคนสุราษฎร์" กล่าวว่า เดิมชุมชนทำไข่เค็มตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และขายภายในจังหวัด/สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่พอไปรษณีย์ไทย ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมกับสนับสนุนช่องทางการขาย ทั้งที่ทำการฯ ในพื้นที่สุราษฎร์ธานี และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจาก คณะมัณฑณศิลป์ ม.ศิลปากร ในการปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ให้มีลวดลายทันสมัย พร้อมทั้งมีโลโก้มาตรฐานอาหาร ฮาลาลแห่งชาติ (Halal Food) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ในระดับ 4 ดาว (OTOP) และฉลากระบุวันที่ที่สามารถทอดเป็นไข่ดาว และต้มเป็นไข่เค็มได้อย่างชัดเจน จึงทำให้กลุ่มของตนมีรายได้เพิ่มขึ้น
"พุทราหวานบ้านโพน สด กรอบ ปลอดสารเคมี แบรนด์ "ทันสุข" ตามมาตรฐาน GAP พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง" นายวิสัย ภูจันหา เจ้าของไร่พุทรามดแดง ตัวแทนเครือข่ายผู้ประกอบการ พุทราหวาน แบรนด์ "ทันสุข" กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในพื้นที่ ประสบปัญหาเรื่องพ่อค้า คนกลาง จึงทำให้เกษตรกรถูกตัดราคาและไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ แต่ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากไปรษณีย์ไทยและเทศบาลตำบลโพน ในการให้ความรู้การค้าออนไลน์และบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนช่องทางจำหน่ายเพื่อกระจายผลผลิต ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "ทันสุข" ที่จำหน่ายผลผลิตพุทรานมสดเกรดพรีเมียม ที่คัดเฉพาะพุทรานมสดคุณภาพดี จากสวนที่ปลูกด้วยกรรมวิธีการมุ้งและได้รับมาตรฐาน GAP บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนาศักยภาพ บนผืนดินทำกินของชุมชนบ้านโพนให้เกิดรายได้ และมีอาชีพที่มั่นคงได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2562 ไปรษณีย์ไทย ยังคงเดินหน้าพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมวางแผนขยายผลการดำเนินโครงการไปยังพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วไทย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th