กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ก.แรงงาน ร่วมกรมศิลปากรและองค์การยูเนสโก พิจารณายกร่างหลักสูตรช่างอนุรักษ์ไทย ยกระดับมาตรฐานบุคลากรในสาขาวิชาชีพช่างอนุรักษ์โบราณสถานให้มีคุณภาพ พร้อมเทรนช่างไม้ ช่างปูน สู่ช่างอนุรักษ์ รองรับโบราณสถานไทย สู่มรดกโลก
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนนโยบาย 3 A ของกระทรวงแรงงานโดยเปิดเผยว่า การดำเนินงานต้องใช้แนวทางประชารัฐ เพื่อร่วมกัน พัฒนาทักษะกำลังแรงงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะช่างอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในด้านนี้
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ปัจจุบันช่างที่มีความชำนาญงานบูรณะโบราณสถาน มีจำนวนน้อยมากและขาดโอกาสในการสืบทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องฟื้นฟูความรู้ทักษะช่าง เพื่อใช้ในการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประกอบการเรียนรู้และการทำงาน เพื่อสนับสนุนการผลิตและเสริมสร้าง โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปลูกฝังจริยธรรมทางวิชาชีพให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ สอดคล้องกับกรมศิลปากรได้จัดโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม เพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก มุ่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร สำหรับช่างอนุรักษ์ ให้ครอบคลุมเนื้อหาองค์ความรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สถาบัตยกรรมไม้ สร้างผู้สอนช่างอนุรักษ์ โดยกำหนดให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่สำหรับศึกษาฝึกอบรมและปฏิบัติงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การหารือครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อร่วมกันกำหนดเนื้อหา ระยะเวลาในการฝึกอบรม และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือในเดือนมิถุนายนนี้ โดยโบราณสถานในเมืองไทยหลายพื้นที่ ซึ่งมีโครงสร้างทั้งปูนและไม้ อยู่ในสภาพทรุดโทรม จำเป็นต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยเร่งด่วน แต่ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน เนื่องจากเป็นงานที่ต้องมีความละเอียดประณีต ช่างที่จะมาทำหน้าที่ต้องได้รับการฝึกฝน ผ่านเกณฑ์วัดระดับความสามารถที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
"ความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการเริ่มต้น เพื่อคัดสรรบุคคลเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ด้านอนุรักษ์โบราณสถานที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาขาดแคลนช่างอนุรักษ์โบราณสถานได้ส่วนหนึ่ง และยังสามารถเพิ่มทักษะให้แก่ช่างที่เกี่ยวเนื่องกันเช่น ช่างปูน และช่างไม้ ให้มีความรู้ด้านนี้ด้วย ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม จะได้รับวุฒิบัตรการันตีความรู้ความสามารถ " นายสุทธิ กล่าว