กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมเข้าทำลายผลผลิตในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หนอนกระทู้หอมทำลาย
พืชเศรษฐกิจมากกว่า 30 ชนิด ทั้งพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลและไม้ดอก โดยเฉพาะพืชผักตระกูลหอม ซึ่งหนอนกระทู้หอมมักระบาดในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนจึงขอแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกหอม ทั้งหอมแดง หอมแบ่ง หอมหัวใหญ่ หมั่นสำรวจแปลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หากพบกลุ่มไข่ให้เก็บทำลาย กรณีเริ่มพบหนอน สามารถใช้ชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย (บีที) เชื้อไวรัส เอ็น พี วี มาฉีดพ่นกำจัดหนอนกระทู้หอมในแปลงได้ โดยใช้ตามคำแนะนำในฉลาก ซึ่งเชื้อทั้ง ๒ ชนิด จะทำให้หนอนเกิดโรคและตายในที่สุด ซึ่งการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวิธีการที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ ไม่มีพิษตกค้างในผลผลิต นอกจากนี้การใช้เชื้อไวรัส เอ็น พี วี สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง
กรณีจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม ได้แก่ อีมาเม็คติน เบนโซเอท 1.92% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อินโดซาคาร์บ 15% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา ๒๐ - ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นกำจัดแมลงทุก ๗ วัน ติดต่อกัน ๒ ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก ๓๐ วัน เพื่อลดความต้านทานชนิดสารเคมีของศัตรูพืช
อย่างไรก็ตามหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรไถตากดินเพื่อกำจัดดักแด้ และเก็บเศษซากพืชอาหารเพื่อลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์ของหนอนกระทู้หอม เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์อีกทางหนึ่งด้วย