กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมป่าไม้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหยุดการเผา เนื่องใน "วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า" 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนและเกษตรกรในทุกท้องที่ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะก่อให้เกิดไฟป่า พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน นักเรียน หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนต่างๆโดยออกมาตรการขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 กำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันรณรงค์ ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า" ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น สาเหตุไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์
เช่น การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย การกำจัดเศษวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก หรือแม้แต่กระทั่งการจุดไฟเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอชื่นชมและขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ป้องกันไฟป่าและเครือข่ายภาคประชาชนจิตอาสาที่เสียสละเวลาในการช่วยสอดส่องดูแล เฝ้าระวังการเกิดเหตุไฟป่า และช่วยดับไฟป่าตลอดจนภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟสำหรับเจ้าหน้าที่ภาคสนามให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมมือกัน นอกจากนี้ขอประณามผู้ที่จุดไฟเผาป่าและก่อเหตุอันซึ่งทำให้เกิดไฟป่า ที่สร้างผลกระทบทางด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน
ในพื้นที่ อีกด้วย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากรายงานการปฏิบัติงานดับไฟป่าและปริมาณจุดความร้อนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ถึงวันที่ 20 ก.พ. 2562 ใน 4 ภูมิภาคมีเหตุไฟป่าเกิดขึ้น 293 ครั้ง มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 11,846.3 ไร่ โดยพื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีการเฝ้าระวังปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา แพร่ และจังหวัดตาก มีเหตุไฟป่าเกิดขึ้น 98 ครั้ง มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 3,416.8 ไร่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากไฟป่า และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหา กรมป่าไม้จึงได้ออกประกาศกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่า เมื่อมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในที่ดินทำกิน ขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ และขอให้ประสานงานกับหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าในท้องที่ หรือหน่วยป้องกันรักษาป่าเพื่อจัดกำลังเจ้าหน้าที่คอยควบคุมในการดำเนินการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนหากพบเห็นไฟไหม้ป่าบริเวณใดขอให้ช่วยกันดับไฟโดยเร็วเพื่อมิให้เกิดไฟลุกลามขยายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้หากกรณีเกิดไฟป่ารุนแรงประชาชนไม่สามารถเข้าระงับเหตุได้ขอให้ประชาชนรีบแจ้งและประสานงานไปยังศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าท้องที่ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ไฟไหม้ป่าหรือสายด่วน กรมป่าไม้ 1310 กด 3 และสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานระงับเหตุ
ไฟป่าได้ทันสถานการณ์
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการขอความร่วมมือจากประชาชนข้างต้น ยังมีเรื่องข้อกฎหมายบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในการเผาป่าหรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่าซึ่งสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 2,000,000 บาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง อีกด้วย