ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 24, 2008 09:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) เป็น ‘BBB-’ ( BBB ลบ ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ จาก ‘BB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น เป็น ‘F3’ จาก ‘B’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็น ‘BB+’ จาก ‘BB’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities เป็น ‘BB-’ ( BB ลบ ) จาก ‘B’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็น ‘C/D’ จาก ‘D’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว เป็น ‘A+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จาก ‘A (tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิเป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ ( A ลบ (tha))
นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตของ TMB ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ BB
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1 (tha)’
ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาแก่อันดับเครดิตของ TMB ที่ได้ถูกประกาศไว้ในเดือนตุลาคม 2550 ซึ่งการประกาศเครดิตพินิจในครั้งนั้นเป็นผลมาจากการประกาศเพิ่มทุนและความเป็นไปได้ที่ ING Bank NV (ING) จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
การเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการที่ TMB สามารถเพิ่มทุนจำนวน 3.77 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2550 และการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 30% ของ ING (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘AA’ / ‘F1+’) ถึงแม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับสูง การที่ธนาคารได้ทำการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก ประกอบกับเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น จะสามารถช่วยเร่งให้มีการจัดการแก้ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดจากช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 และที่เกิดจากการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2547 ได้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันยังคงค่อนข้างอ่อนแอ การเพิ่มทุนและการสนับสนุนในด้านการปฏิบัติงานจาก ING คาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของ TMB ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า
สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ทาง TMB ตั้งเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ทำให้อัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 70% จาก 56% ในปีที่แล้ว จากการที่มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากแล้วในปี 2550 ผลประกอบการของ TMB คาดว่าจะกลับมามีกำไรในปี 2551 คาดว่าจะทำให้ TMB สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับ Hybrid Tier 1 Securities ได้ในเดือนมิถุนายน 2551 ดังนั้นฟิทช์ จึงเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ขึ้น 2 ลำดับเป็น BB- ( BB ลบ )
ในระยะยาว ING น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ TMB ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจสำหรับลูกค้ารายใหญ่ และรายย่อย การทำธุรกิจประกันภัยผ่านทางธนาคาร (Bancassurance) และธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ รวมถึงด้านการควบคุมความเสี่ยงและผลประกอบการของธนาคาร ในปัจจุบันมีคณะกรรมการธนาคารสามท่านเป็นตัวแทนจาก ING ซึ่งรวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2551 ทีมผู้บริหารของ TMB จะประกอบไปด้วยบุคลากรจาก ING ประมาณ 15 ถึง 20 คน
TMB รายงานผลขาดทุนสุทธิ 4.37 หมื่นล้านบาทในปี 2550 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3.09 หมื่นล้านบาท และการตั้งขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) และเพื่อช่วยสนับสนุนให้มีการจัดการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ได้อย่างเร็วขึ้น นอกจากนี้ ผลขาดทุนของธนาคารยังมีผลมาจากการตั้งขาดทุนจากการด้อยค่าค่าความนิยมเป็นจำนวน 1.22 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 7.24 หมื่นล้านบาท หรือ 15% เพิ่มขึ้นจาก 5.61 หมื่นล้านบาทหรือ 10% ณ สิ้นปี 2549 การเพิ่มขึ้นของสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนี้มีสาเหตุหลักมาจากหลักเกณฑ์การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น การที่อัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีระดับสูงขึ้น จะช่วยเร่งให้มีการแก้ไขหรือนำสินเชื่อเหล่านี้ออกมาขายได้ภายในสองปีข้างหน้า อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นปี 2550 ปรับตัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งที่ระดับ 14.4% และ 10.7% ตามลำดับ Hybrid Tier 1 Securities คิดเป็น 15% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1
TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 6.222 แสนล้านบาท (ประมาณ 1.94 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10% ผู้ถือหุ้นอื่นที่สำคัญของ TMB ได้แก่ กระทรวงการคลังซึ่งยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 26.1% สัดส่วนการถือหุ้นของ DBS Bank ลดลงอยู่ที่ 6.8%
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ