กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชิญนักวิชาการภาครัฐและเอกชนกว่า 80 คน จาก 28 หน่วยงาน ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ณ ปส. หวังติดตามการดำเนินงาน สร้างความเข้าใจ และผลักดันโครงการวิชาการนิวเคลียร์ใหม่สู่การพัฒนาเพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์จากความร่วมมืออย่างยั่งยืน
นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิด "การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ" ณ ห้องประชุมใหญ่ ปส. โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ (1) ผลักดันการพัฒนาความร่วมมือเชิงวิชาการด้านนิวเคลียร์และรังสีร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) (2) รายงานความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคระหว่างการดำเนินโครงการที่ผ่านมา และ (3) สร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการเสนอโครงการวิชาการใหม่ในอนาคต รวมทั้งบทบาทการดำเนินงานโครงการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ให้แก่ผู้ประสานงานโครงการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ อาจารย์ และผู้สนใจทำโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการด้านนิวเคลียร์และรังสีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 80 คน จาก 28 หน่วยงาน อาทิ หน่วยงานราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยทางการแพทย์ และหน่วยงานสนับสนุนด้านอื่น ๆ
นางรัชดา กล่าวว่า หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย มีการดำเนินโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการด้านนิวเคลียร์และรังสี ร่วมกับ IAEA ผ่านการประสานงานของ ปส. มาเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ IAEA ในปี พ.ศ. 2500 โดยที่ผ่านมาไทยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยซึ่งมีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้พัฒนาประเทศในทางสันติด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด อาทิ ด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม อาหารและโภชนาการ และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น ปส. ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทยกับ IAEA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้จะสามารถ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ พร้อมทั้งจุดประกายให้นักวิชาการไทยทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมประชุมฯ เกิดแนวความคิดในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาในสาขาวิชาต่าง ๆ นำไปสู่การขยายเครือข่ายและบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความร่วมมือของ IAEA ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติอย่างยั่งยืน