กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดเวทีทำข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน กับสหกรณ์ในจังหวัดสงขลาและปัตตานี หวังเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์เป็นช่องทางตลาดรองรับผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ปีนี้ เพื่อเร่งกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดภายนอกโดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตกระจุกตัวจนราคาตกต่ำ
นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายสหกรณ์เพื่อซื้อขายลำไยระหว่างสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน กับสหกรณ์การเกษตรสะเดา จำกัด จังหวัดสงขลา สหกรณ์การเกษตรยะรัง จำกัด และสหกรณ์ประมงปัตตานี จำกัด จังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร จังหวัดลำพูน ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ลำไยของจังหวัดลำพูน ในปีนี้จะมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 119,784 ตัน ขณะที่ตลาดมีความต้องการบริโภคลำไยสด 31,815 ตัน แยกเป็นบริโภคสด ในประเทศ 8,313 ตัน และลำไยสดส่งออก 23,502 ตัน
สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด เป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตลำไยในจังหวัดลำพูน มีสมาชิกซึ่งมีพื้นที่ปลูกลำไย 2,500 ไร่ คาดว่าจะรวบรวมผลผลิตลำไยในฤดูกาลปี 2562 ประมาณ 1,600 ตัน เป็นลำไยเกรดคุณภาพประมาณ 1,140 ตัน สหกรณ์สามารถกระจายผลผลิตผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด 500 ตัน กระจายผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทย 100 ตัน และยังมีผลผลิตส่วนเกินอยู่ 540 ตัน โดยในส่วนของผลผลิตลำไยนั้น ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมากจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตลาดในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูนดำเนินการประสานเชื่อมโยง สหกรณ์ผู้ผลิตลำไยกับคู่ค้าต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ได้แก่ โมเดิร์นเทรด ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก รวมไปถึงเครือข่ายสหกรณ์ในภาคต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรองรับผลผลิตลำไยและนำไปกระจายสู่ผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาผลผลิตกระจุกตัวและส่งผลทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำได้ ซึ่งการขยายเครือข่ายสหกรณ์ให้เป็นช่องทางการตลาดที่เข้มแข็งและมีศักยภาพและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกับช่องทางการตลาดภาคเอกชน
โดยสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนให้สมาชิกผลิตลำไยที่มีคุณภาพ และบริหารจัดการผลผลิตส่งถึงคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสหกรณ์คู่ค้าในจังหวัดสงขลาและปัตตานีทั้ง 3 แห่ง ให้ความร่วมมือในการซื้อขายลำไยเกรดคุณภาพตลอดฤดูกาลผลิต เพื่อนำไปกระจายส่งถึงผู้บริโภค โดยราคาซื้อขายให้เป็นไปตามกลไกตลาด