กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สำนักงานประกันสังคม
“ตั้งแต่วันแรกที่ผมได้ก้าวเข้ามาเป็นลูกจ้างในบริษัท ผมเข้ามาพร้อมกับการ เป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมโดยอัตโนมัติ ผมได้รับความคุ้มครองดูแลจากประกันสังคมมาโดยตลอดเวลาที่ผมเป็นลูกจ้างอยู่ จนวันนี้ผมตกงานผมก็ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากสำนักงานประกันสังคม” อดีตลูกจ้างบริษัทแห่งหนึ่งกล่าว
จากคำกล่าวข้างต้นทำให้เราได้เห็นถึงการดูแลเป็นอย่างดีของสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่ในวันที่เริ่มทำงานเป็นลูกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับการคุ้มครองดูแลรวมถึงได้รับประโยชน์ทดแทนตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ประกันตนจนถึงวันสุดท้ายที่ผู้ประกันตนเป็นลูกจ้างจากสำนักงานประกันสังคมใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ในกรณีที่ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐทั่วประเทศภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานโดยมีเงื่อนไขในการับประโยชน์ทดแทนว่าผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน จึงจะได้รับความช่วยเหลือ นั่นคือ การช่วยเหลือในการบริการจัดหางานการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมทั้งรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตาม การที่ถูกเลิกจ้างผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และก็จะยังคงได้รับการคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน จากประกันสังคม 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร
นอกจากนี้ผู้ประกันตนยังจะได้รับคืนเงินออมกรณีชราภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน คือ เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อได้ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย เงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิก็ต่อเมื่อได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะ 180 เดือน จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (จะมีผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธินี้ในปี 2557)
ในระยะเวลาที่ผู้ประกันตนว่างเว้นจากการทำงานในช่วง 6 เดือนนี้หากผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ สามารถยื่นสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 คือภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนทั้งนี้ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า12 เดือน โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน สงเคราะห์บุตร คลอดบุตร และชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่องถ้าผู้ประกันตนขาดส่งเงินสบทบติดต่อกันเกิน 3 เดือน จะถูกตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะสิ้นสุดลงเมื่อ 1.ตาย 2.กลับไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 3.ลาออกจากมาตรา 39 4.ขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน 5.ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน
สำหรับการส่งเงินสมทบในส่วนของ มาตรา 39 นั้น สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดให้ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตราเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 432 บาท โดยผู้ประกันตนสามารถส่งเงินสมทบได้ 4 วิธี คือ 1.จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด 2.จ่ายเงินทางธนาณัติ 3. ส่งผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) 4.เปิดบัญชีประเภทออมทรัพย์และให้ทางธนาคารหักจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มทางเลือกในการส่งเงินสมทบด้วยวิธีการหักบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับผู้ประกันตน มาตรา 39 อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องมีเงินให้เพียงพอเพื่อหักเงินสมทบ จำนวน 432 บาท และค่าธรรมเนียม 10 บาท ภายวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยธนาคารจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ผู้ประกันตนทางไปรษณีย์ หากนำส่งเงินสมทบดังกล่าวเกินกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th