กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เผยความยากจนส่งผลเกษตรกรไทยเสียที่ดินกว่า 40,000 ครอบครัวต่อปี หวั่นอาชีพเกษตรกรรายย่อยจะสูญหายจากแผ่นดินไทยกลายเป็นแรงงานในที่ดินตนเอง เกษตรกรแนะเร่งนำความรู้เศรษฐกิจพอเพียงเผยแพร่ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงต้านกระแสบริโภคนิยม
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เปิดเผยว่ามีรายงานจากกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรระบุว่าปัญหาความยากจนในเกษตรกรรายย่อยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบันเป็นตัวเร่งให้เกิดการสูญเสียอาชีพของเกษตรกร หนี้สินของเกษตรกรในปัจจุบันไม่ใช่หนี้สินตามรอบการผลิตเหมือนในอดีต แต่เป็นหนี้สินที่ไม่จำกัดฤดูกาล
“เดิมหนี้ของเกษตรกรเป็นหนี้ตามรอบการผลิต เช่นหนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด หนี้พันธุ์อ้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนี้จำนอง หนี้มือถือ หนี้ลูกเรียน ทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งไปไม่รอด พบว่า เกษตรกรไทยสูญเสียที่ดิน 40,000 ครอบครัวขึ้นไปต่อปีจากความยากจน เราต้องให้เกษตรกรได้มีบทบาททางเศรษฐกิจของตนเอง ไม่เช่นนั้นเกษตรกรไทยคงไปไม่รอด”
นายบุญส่ง มาตขาว แกนนำเครือข่ายเกษตรทางเลือกยโสธร กล่าวว่าการทำการเกษตรในประเทศไทยคงมีอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป แต่มีคนยึดอาชีพเกษตรกรน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมองไม่เห็นทางรอด และเกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานในแปลงของตัวเองกลายเป็นการเกษตรโดยภาคธุรกิจ เพราะนโยบายต่างๆเป็นการสร้างกระแสให้เกษตรกรบริโภคเกินความเป็นจริงจนไม่สามารถเอารายได้จากภาคการเกษตรไปตัดหนี้สินได้ กลายเป็นหนี้สินหมุนเวียนไปเรื่อยใช้หนี้ไม่หมดเสียที ดังนั้นจึงมีการกู้หนี้ยืมสินรอบตัว เอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตัวเองก็นำไปจำนองกับนายทุนหรือสถาบันการเงินจนในที่สุดหนี้ก็ท่วมเงินต้น เกษตรกรที่ยังอยู่ได้ส่วนใหญ่เพราะลูกหลานส่งเงินจากการขายแรงงานในเมืองไปช่วย เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกษตรกรละทิ้งอาชีพ
“ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาพะรุงพะรังที่สุดของเกษตรกร เศรษฐกิจพอเพียงมีการพูดถึงมากแต่การปฏิบัติน้อย หน่วยงานควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงลงไปถึงพื้นที่มากๆ เพราะกระแสการบริโภค การโฆษณา กระแสทุนนิยมในพื้นที่มันแรงมาก”