สถาบันอาหารจี้ไทยตื่นตัว! GCC คุมเข้มความปลอดภัยอาหารนำเข้า! กำหนดช่วงอายุสินค้า ระบุส่วนผสมสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก บังคับใช้กลางปี 2551

ข่าวทั่วไป Thursday January 24, 2008 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
เตือนผู้ประกอบการไทยศึกษา กฎ ระเบียบ มาตรฐานใหม่ในการกำหนดช่วงอายุของสินค้าและ การแสดงฉลากสินค้าอาหารของกลุ่ม GCC หวังปรับใช้ทันท่วงทีหลัง GCC เริ่มบังคับใช้กลางปีนี้ ชี้สินค้าประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปส่งออกได้รับอานิสงส์ ยืดอายุสินค้านานถึง 12 เดือน จากเดิม 4 เดือน หลังสัตว์ถูกเชือด บังคับให้แสดงฉลากสารก่อภูมิแพ้ ต้องระบุส่วนผสมบนฉลากสินค้า ได้แก่ ธัญพืช ซึ่งมีสารกลูเตน ได้แก่ ข้าวสาลี บาร์เล่ย์ โอ๊ต หรือผลิตภัณฑ์จากธัญพืช สัตว์น้ำเปลือกแข็ง ผลิตภัณฑ์ไข่ ปลา วอลนัท ผลิตภัณฑ์จากถั่วเปลือกแข็ง นม ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณซัลไฟต์มากกว่าหรือเท่ากับ 10 มก./กก.
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย หรือ GCC มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นกลุ่มที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากมูลค่าน้ำมันที่สูงขึ้น แต่สภาพอากาศและภูมิศาสตร์ของประเทศในกลุ่ม GCC ไม่อำนวยต่อการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเป็นหลัก
“ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่ม GCC ผ่านทางรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ เมืองท่าหลักของ GCC โดยในปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยัง UAE เป็นมูลค่า 4,299.65 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงร้อยละ 28.22 รองลงมาคือ สินค้ากลุ่มข้าวและธัญพืชร้อยละ 26.38 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไปยัง UAE ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวม 2,986.49 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 43.97”
ทั้งนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายข้อมูลการเกษตรโลก (Global Agriculture Information Network : GAIN) ได้แจ้งต่อนานาประเทศถึงการออกเอกสารฉบับร่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการกำหนดช่วงอายุสินค้าและการระบุฉลากสินค้าอาหาร (Standards for Expiration Periods and Food Labelling) ของกลุ่ม GCC ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กลางปี 2551นี้ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานซึ่งได้เคยกำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2543 โดยสาระสำคัญของมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญคือ การกำหนดช่วงอายุของสินค้าอาหาร (Expiration Periods of Food Products) และ การแสดงฉลากสินค้าอาหาร (Labelling of Prepackaged Foodstuffs)
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ยังกล่าวด้วยว่า จากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานกำหนดช่วงอายุสินค้าฉบับใหม่ของ GCC น่าจะมีผลเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตมีความสะอาดและทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพที่ดีและมีอายุสินค้าที่นานขึ้น ดังนั้นช่วงอายุสินค้าจึงยาวนานกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการกำหนดช่วงอายุสินค้าฉบับใหม่นี้จึงกำหนดให้ช่วงอายุสินค้านานขึ้น โดยสินค้าที่อาจได้รับผลดีจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่เนื้อสัตว์ แปรรูป ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากเดิมสินค้าต้องส่งออกไปถึงจุดรับสินค้าภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังจากที่สัตว์ถูกเชือด แต่มาตรฐานใหม่ให้ระยะเวลายาวนานกว่าคือ 12 เดือน ทั้งนี้การที่กลุ่มประเทศ GCC ให้ความสำคัญกับ
เรื่องช่วงอายุสินค้าเป็นพิเศษ เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศมีจำนวนมาก จึงเกรงว่าอาจมีการส่งสินค้าที่เหลือจากการบริโภคของประเทศผู้ส่งออก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศ GCC ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะในส่วนมาตรฐานการแสดงฉลากสินค้าอาหารที่บังคับให้ต้องระบุส่วนผสมหรือส่วนประกอบซึ่งเป็นสาเหตุอาการภูมิแพ้ (Hypersensitivity) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงจากอันตรายต่อสุขภาพนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะตรวจสอบส่วนผสมหรือส่วนประกอบในสินค้าว่ามีรายชื่อสารก่อภูมิแพ้หรือไม่ หากมีก็ควรเตรียมตัวดำเนินการแก้ไขฉลากสินค้าตามมาตรฐานใหม่ที่กำลังจะนำมาบังคับใช้นี้ นอกจากนี้การกำหนดให้ระบุเลขชุดการผลิตของสินค้า ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและทราบแหล่งที่มาของอาหารนำเข้า หากอาหารดังกล่าวเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาจากการส่งออกสินค้าอาหารไปยัง GCC ผู้ประกอบการต้องศึกษากฎ ระเบียบ และข้อกำหนดของประเทศปลายทางอย่างละเอียด ซึ่งอาจได้มาจากการติดต่อตัวแทนนำเข้าสินค้าในประเทศผู้นำเข้าสินค้า ทั้งนี้หากผู้ประกอบการสนใจข้อมูลเรื่องกฎ ระเบียบ และมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถศึกษาจากฐานข้อมูลจากฝ่ายบริการข้อมูลและสารสนเทศ สถาบันอาหาร www.nfi.or.th/infocenter
ข้อมูลเพิ่มเติม
มาตรฐานด้านช่วงอายุของสินค้าอาหาร
GCC แบ่งประเภทของช่วงอายุสินค้าออกเป็น 2 ประเภท คือ ช่วงอายุสินค้าที่บังคับให้ต้องระบุในฉลาก สินค้า และช่วงอายุสินค้าอาหารที่แสดงตามความสมัครใจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- ช่วงอายุสินค้าอาหารที่บังคับต้องระบุในฉลากสินค้า (Mandatory Expiration periods)
กำหนดมาตรฐานสินค้าโยเกิร์ต โยเกิร์ตปรุงแต่งกลิ่นรส และโยเกิร์ตพาสเจอร์ไรซ์ในภาชนะปิดสนิทเก็บ
รักษาที่อุณหภูมิ 0-50C มีช่วงอายุสินค้า 7 วัน
- ช่วงอายุสินค้าอาหารที่แสดงตามความสมัครใจ (Voluntary Expiration periods) สินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน ได้แก่
1. นม ยูเอชที กำหนดให้บรรจุในภาชนะกระดาษเคลือบ บุภายในด้วยอะลูมิเนียมฟอยด์ มีช่วงอายุสินค้า 4 เดือน ซึ่งมาตรฐานเก่าไม่มีการระบุไว้ในมาตรฐานอาหาร
2. เนื้อโค, กระบือ, แกะ และแพะ แช่แข็งในภาชนะที่เหมาะสม กำหนดสินค้ามีอายุสินค้า 12 เดือน นับแต่วันที่สัตว์ถูกเชือด (มาตรฐานเก่ากำหนดให้สินค้าจะต้องถึงจุดรับภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน หลังจากวันถูกเชือด)
3. ไก่, กระต่าย, ไก่งวง เป็ดตุรกี และห่าน ในภาชนะพลาสติก มีอายุสินค้า 12 เดือน นับแต่วันที่สัตว์ถูกเชือด (มาตรฐานเก่ากำหนดให้สินค้าต้องถึงจุดรับสินค้าภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน หลังจากวันที่สัตว์ถูกเชือด)
4. นมสเตอริไรซ์สำหรับทารก ช่วงอายุสินค้า 9 เดือน บรรจุในภาชนะแก้วหรือพลาสติกปิดสนิท (มาตรฐานเก่ากำหนดช่วงอายุสินค้า 6 เดือน บรรจุในภาชนะแก้วหรือพลาสติกปิดสนิท)
5. นมข้นหวาน เพิ่มกรณีที่สินค้าบรรจุในบรรจุภัณฑ์โลหะ มีช่วงอายุสินค้า 12 เดือน (บรรจุในกล่องกระดาษปิดสนิท บุภายในด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ อายุการเก็บรักษา 6 เดือน บรรจุภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ)
มาตรฐานด้านการแสดงฉลากสินค้าอาหาร
ข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจากมาตรฐานเดิม ล้วนเป็นข้อกำหนดบังคับทั้งสิ้น ได้แก่
สิ่งที่นำมาเป็นอาหารหรือส่วนผสมหรือส่วนประกอบซึ่งเป็นสาเหตุอาการภูมิแพ้ (Hypersensitivity) ต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากสินค้า ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระบุบนฉลากสินค้าได้แก่ ธัญพืช ซึ่งมีสารกลูเตน ได้แก่ ข้าวสาลี, บาร์เล่ย์, โอ๊ต หรือผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเหล่านี้ สัตว์น้ำเปลือกแข็งและผลิตภัณฑ์ ไข่และผลิตภัณฑ์ ปลาและผลิตภัณฑ์ วอลนัทและผลิตภัณฑ์จากถั่วเปลือกแข็ง นมและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณซัลไฟต์มากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
การระบุชื่อวัตถุเจือปนอาหารที่ Gulf Standard อนุญาตให้ใช้ได้นั้น สามารถระบุได้ทั้งชื่อเฉพาะ (specific name) หรือชื่อที่นานาชาติยอมรับ หรือ European classification number (E-number)
ต้องระบุเลขชุดการผลิตของสินค้า (processing lot numerical) โดยการตอกนูนหรือทำสัญลักษณ์ถาวร เพื่อป้องกันการลบเลือนหรือไม่ชัดเจน
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 08 9484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

แท็ก ฉลาก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ