กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ดีแทค
ดีแทคเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่วงการโทรคมนาคม ร่วมมือ กสท โทรคมนาคม และอีริคสัน เปิดทดสอบ ‘โมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์’ ผ่านเทคโนโลยี เอชเอสดีพีเอ (HSDPA) บนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์เป็นครั้งแรกของประเทศ เลือกโรงเรียนบ้านแพง และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่สาธิตประสิทธิภาพ การส่งผ่านข้อมูลด้วยความเร็วสูง เล็งกรุยทางสู่เป้าหมายผู้นำไวร์เลส เซอร์วิส โพรไวเดอร์เต็มตัว
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ร่วมมือกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ในการทดสอบระบบโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ด้วยเทคโนโลยีเอชเอสดีพีเอ (HSDPA: High-Speed Downlink Packet Access) ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2550 โดยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ความร่วมมือเพื่อทำการทดสอบระบบในครั้งนี้ถือเป็นการกรุยทางไปสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง broadband penetration และรายได้ต่อหัวของประชากรต่อปี (GDP per capita) พบว่าตัวเลขทั้งสองแปรผันตรงกัน หรือกล่าวได้ว่าหากประเทศใดมี broadband penetration สูงก็จะมี GDP ต่อหัวของประชากรสูงตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือช่วยให้คนไทยมีโอกาสและทางเลือกในการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ และในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยผลักดันอัตราการเติบโตของ Internet penetration โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบรอดแบนด์ให้เติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย” นายซิคเว่ กล่าว
จากการสำรวจปริมาณการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต พบว่าตัวเลข penetration rate ของผู้ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 13% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีระดับ penetration rate อยู่ที่ 20.6% ประเทศมาเลเซีย 47.6% เป็นต้น ส่วนตัวเลขสัดส่วนของผู้ใช้บรอดแบนด์ต่อประชากร (broadband penetration) ของไทยปัจจุบันอยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น
โดยนายซิคเว่กล่าวว่า ขณะนี้ดีแทคกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและการลงทุนในการอัพเกรดคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ เพราะบริษัทต้องการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ อีกทั้งจากการศึกษาในต่างประเทศ ยังพบว่าการพัฒนาคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนใหม่ทั้งหมดในคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) โดยการอัพเกรดคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ขึ้นเป็นระบบ 3G เพื่อให้สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศจำเป็นต้องใช้ cell site โดยประมาณทั้งสิ้น 1,600 - 1,700 แห่ง
การดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทในการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นการแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจด้านข้อมูล (data service) หลังจากมีการคาดการณ์ว่าตลาดมือถือด้านบริการเสียง (voice service) จะถึงจุดอิ่มตัวในสิ้นปีนี้ และเพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของดีแทคในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำไวร์เลสเซอร์วิสโพรไวเดอร์ในการให้บริการไร้สายครบวงจรในอนาคตให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย
นายอมฤต ศุขะวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเน็กซ์ ดีแทค กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ดีแทคจะดำเนินการทดสอบระบบบนคลื่นความถี่นี้ บริษัทได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการของโอเปอเรเตอร์ในประเทศต่าง ๆ เช่น เทลสตรา ประเทศออสเตรเลีย ที่ประสบความสำเร็จในการอัพเกรดโครงข่ายที่มีอยู่เดิมทั่วประเทศขึ้นมาให้บริการบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์
โดยดีแทคได้ร่วมมือกับ กสท โทรคมนาคม และอีริคสัน (ประเทศไทย) ในการทดสอบระบบเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน — พฤศจิกายน 2550 ในพื้นที่ 3 แห่งได้แก่ 1) สยามสแควร์ 2) อาคารชัย ถ.วิภาวดีรังสิต จ.กรุงเทพฯ และ 3) จ. มหาสารคาม ซึ่งผลการทดสอบระบบเป็นที่น่าพอใจ โดยอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุด (peak speed) อยู่ที่ 5 เมกะบิตต่อวินาที สำหรับความเร็วการอัพโหลดข้อมูลอยู่ที่ระดับความเร็วสูงสุด (peak) 1-1.4 เมกะบิตต่อวินาที ในขณะที่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านระบบ EDGE ทำได้สูงสุด (peak) ที่ 200-240 กิโลบิตต่อวินาที
“นอกเหนือจากการใช้งานระบบโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กผ่านอุปกรณ์ data card แล้ว เราเชื่อว่าจะมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีความต้องการดาวน์โหลดข้อมูลด้วยความเร็วสูงผ่านมือถืออีกด้วย ปัจจุบันมีโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 60 รุ่น จากผู้ผลิตมากกว่า 14 แบรนด์ในตลาดที่สนับสนุนการใช้งานบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์” นายอมฤต กล่าว
ทั้งนี้ ดีแทคได้เลือกจังหวัดมหาสารคามเป็นที่ทดสอบประสิทธิภาพของระบบเป็นแห่งแรก เนื่องจากพื้นที่บางส่วนของจังหวัดจัดอยู่ในส่วนของพื้นที่ห่างไกล ที่การขยายตัวในด้านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานยังขยายตัวไปไม่ถึงหรือไม่เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับตัวจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการศึกษาสำคัญในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรงเรียนบ้านแพง จ.มหาสารคาม ในการทดสอบประสิทธิภาพ และความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหนึ่งในแอพพลิเคชั่นหลักที่นำมาสาธิตเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอัตราความเร็วของเครือข่ายได้อย่างชัดเจน คือระบบการเรียนการสอนทางไกล (long-distant learning) ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในชนบทอีกด้วย
ดีแทคคาดหวังว่าการทดสอบ และสาธิตระบบดังกล่าว จะช่วยกระตุ้น และผลักดันให้ตลาดเกิดการตื่นตัวในด้านการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทเพื่อรุกเข้าสู่สนามธุรกิจใหม่ รวมถึงเป็นการสำรวจถึงปริมาณความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกลไปในเวลาเดียวกัน
นายฮันส์ โอ คาร์ลสัน ประธานและผู้จัดการ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดบรอดแบนด์ไร้สายกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตของคนเรามากขึ้น เทคโนโลยีเอชเอสดีพีเอสามารถใช้เทคโนโลยีบรอดแคสต์ส่งภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงตรงสู่โทรศัพท์มือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครื่องรับโทรทัศน์ความละเอียดสูง (เอชดีทีวี) ขณะนี้ได้มีการให้บริการเอชเอสดีพีเอ ในหลายประเทศทั่วโลกด้วยอุปกรณ์ของอีริคสัน
“อีริคสันเป็นผู้นำตลาดเทคโนโลยีเอชเอสดีพีเอ เราเชื่อมั่นว่าด้วยเทคโนโลยีนี้จะทำให้การติดต่อสื่อสารกลายเป็นโลกของบรอดแบนด์อย่างเต็มรูปแบบ โทรศัพท์มือถือสามารถตอบสนองบริการประเภทมัลติมีเดีย เช่น ดูหนังฟังเพลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างกันแม้อยู่ในที่ที่ห่างไกลก็สามารถทำได้ง่ายดายยิ่งขึ้น อีริคสันในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายแบบครบวงจร (End to End Solutions) ชั้นนำของโลก เราพร้อมที่จะนำประสบการณ์ความสำเร็จจากการวางระบบให้กับผู้ให้บริการหลายรายทั่วโลกผนวกกับทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เพื่อผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างดีที่สุด” นายฮันส์ กล่าว.