กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นจ้าภาพร่วมจัดประชุม The Multi-Stakeholder Regional Workshop on Social Media ดึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ 3 รายใหญ่ของโลก 'เฟซบุ๊ก-กูเกิล-ไลน์" ขึ้นเวทีหารือหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ปูทางสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกัน (Best Practice) ในการกำหนดกรอบที่เป็นมาตรฐานสากลของสังคมโซเชียล รับแนวโน้มความแพร่หลายในการใช้งานโซเชียลมีเดีย ที่ปัจจุบันเข้าถึงประชากรกว่า 2.4 พันล้านคนทั่วโลก
นายขจิต สุขุม ผู้ตรวจราชการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงการประชุมเขิงปฏิบัติการ The Multi-Stakeholder Regional Workshop on Social Media Governance ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า เป็นการเปิดเวทีหารือร่วมกัน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ 3 รายใหญ่ของโลก ได้แก่ เฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการรับมือปัญหาวิธีประกอบธุรกรรมในโซเชียลมีเดียที่ดีและถูกต้อง (Governance) โดยจะมีการนำสรุปผลการหารือเสนอต่อคณะทำงานด้านสารสนเทศและโทรคมนาคมของเอเปค (APEC TEL) เพื่อสร้างความตระหนักทั้งด้านโอกาสและภัยคุกคามของสื่อสังคมออนไลน์ให้กับประเทศสมาชิก
ปัจจุบัน เอเปค มีบทบาทสำคัญในเรื่องของ Social and Digital Governance อย่างมาก โดยนอกจากเป็นตลาดใหญ่สุดของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีข้อมูลระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้โซเชียลมากกว่า 2.4 พันล้านราย ครึ่งหนึ่งหรือกว่า 1.2 พันล้านราย อยู่ในประเทศกลุ่มเอเปคแล้ว ผู้ให้บริการใหญ่ที่สุดของโลกหลักๆ ยังเป็นบริษัทที่อยู่ใยประเทศสมาชิกของเอเปคด้วย
"ขณะนี้การใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลายมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยได้ตระหนัก ก็คือ การกำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้มีการใช้ด้วยความปลอดภัย สามารถเชื่อมั่นได้ การกำกับดูแลที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การควบคุม แต่เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยถูกต้องในการใช้งาน ความถูกต้องในการให้ข้อมูลและสื่อสาร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสังคม ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงดีอี ได้พยามยามผลักดัน ทั้งในประเทศ และในระดับสากล โดยในประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายดิจิทัล 6 ฉบับ ด้วยความเป็นห่วงและต้องการดูแลสังคม ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลักษณะเดียวกันของเอเปค และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน มุ่งส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อโซเชียลให้กับประชาชนผ่านการอบรมในโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อรับมือกับแนวโน้มการแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์และไม่พึงประสงค์ (Information Pollution) ที่มีมากขึ้นบนสังคมออนไลน์" นายขจิตกล่าว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้นำเสนอหลักการเดียวกันนี้ผ่านเวทีประชุม (Forum) ต่างๆ ได้แก่ ในกรอบอาเซียนด้วย เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าหลายประเทศรับรู้และสำนึกถึงความอันตรายอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้มานั่งคุยร่วมกัน กำหนดกฎเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์ร่วมกัน (Best Practice) ถึงวิธีประกอบธุรกรรมในโซเชียลมีเดียที่ดีและถูกต้อง (Governance) ซึ่งเอเปค เป็นเวทีที่ดี เพราะมีผู้เล่นรายหลักๆ หลากหลายทั้ง รัสเซีย สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 4 ผู้เล่นรายสำคัญในโซเชียลมีเดีย
ด้านนางสาวชีน ฮันดู ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำเอเชียแปซิฟิค จากบริษัท เฟซบุ๊ก กล่าวว่า ปัจจุบัน เฟซบุ๊ก มีสมาชิกราว 2.3 พันล้านคน ได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า มาตรฐานชุมชน (Community Standard) เป็นกฎเกณฑ์กำกับดูแลการใช้งาน พร้อมทั้งลงทุนทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) รวมทั้งจ้างบุคลากร 30,000 คนทั่วโลก เพื่อสอดส่องดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ให้มีการโพสต์เนื้อหาที่เป็นการละเมิดมาตรฐานชุมชนที่กำหนดไว้ครอบคลุมหลักๆ 9 หัวข้อ เช่น การก่อการร้าย ความปลอดภัยของเด็ก และเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech)
นายเจค ลุคชี่ หัวหน้าฝ่ายคอนเทนท์ และ AI ฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท กูเกิล (เอเชีย แปซิฟิค) ซึ่งเป็นเจ้าของ YouTube แพลตฟอร์มวิดีโออันดับ 1 ของโลก ได้บัญญัติมาตรฐานชุมชน (Community Standard) ของบริษัทด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยังยึดมั่นในหลักการของอิสระในการแสดงออกของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม กูเกิล ก็ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล เพราะทุก 1 นาที จะมีการอัพโหลดวิดีโอใหม่ๆ ความยาวรวมกันประมาณ 400 นาทีขึ้นยูทูบ
ทั้งนี้ ได้กล่าวว่าเมื่อปลายปี 2561 มีการถอดคลิปวิดีโอที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน (Community Guidelines) จำนวน 7.8 ล้านคลิป คิดเป็นสัดส่วน 1% ของจำนวนคลิปที่มีการรับชมบนยูทูบ โดย 75% นำออกจากเครือข่ายได้ทันก่อนมีผู้รับชม นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ด้วย
นายไทมุ เนกิชิ นักยุทธศาสตร์ ฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ไลน์ เป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่ให้ ความสำคัญกับนโยบายความเป็นส่วนตัวอย่างมาก ทุกข้อความการสนทนาของผู้ใช้งานจะถูกเข้ารหัส และถูกจัดเก็บอยู่ในระบบของสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งมีความเข้มงวดในการคุ้มครองสังคมอย่างมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย เป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไลน์ รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยในจำนวนผู้ใช้เน็ตผ่านมือถือ 50 ล้านคน มีผู้ใช้ไลน์ 44 ล้านคน ใช้งานเฉลี่ย 63 นาทีต่อวัน
ดังนั้น การกำกับดูแลการใช้งานที่ดีบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นที่มีการลงทุนนำเอาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ แต่ที่ผ่านมา ทางบริษัทเน้นการสร้างความรู้ให้กับเยาวชนในญี่ปุ่น "รู้ทันสื่อดิจิทัล" ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา