กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--สสส.
เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอย่างรวดเร็ว เด็กสมัยใหม่เติบโตมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนและสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เด็กเข้าสู่ยุคของ "สังคมก้มหน้า" มากขึ้น โดยที่ผ่านมาจากผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย (report card) ปี 2561 พบว่า เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน การเล่นออกแรง อยู่ในระดับต่ำ และพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มสูงขึ้น (Sedentary) ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 41 นาที (ข้อมูลโครงการพัฒนาระบบการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2559) อย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะวัยเด็ก อายุตั้งแต่ 6-14 ปี ที่กำลังมีพัฒนาทางร่างกายพร้อมๆ กับพัฒนาการทางสมอง
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ใน "โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา หรือ Active Play Active School" ภายใต้แนวคิด "ออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาทีทุกวัน" เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย และมีสุขภาวะที่ดีเหมาะสมตามวัย ร่วมกับสถานศึกษานำร่องในจังหวัดต่างๆ ทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 6 – 14 ปี รวมทั้งให้ความรู้ให้แก่ครูและผู้ปกครองได้เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมทางกายมากขึ้น ลดปัญหาเด็กน้ำหนักเกินในวัยเรียน ประเดิมที่แรกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีครู อาจารย์ และบุคคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน จาก 50 สถานศึกษา
นายอุทิศ โทแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจอหอ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 1 บอกเล่าถึงความรู้ที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า การได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงวิธีการจัดระบบการเรียนการสอนที่มีกิจกรรมทางกายเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะปัจจุบันการให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ ผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้เด็กแอคทีฟบ้าง เพื่อจะได้สร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อ ความคิด และสมองให้แก่เด็ก
"ผมหวังว่าบุคลากรในโรงเรียนจะนำความรู้จากกิจกรรมในครั้งนี้มาปรับใช้ในการเรียนการสอน เช่น นำกิจกรรมมาสอดแทรกในเนื้อหาที่เรียน หรือจัดกิจกรรมขึ้นใหม่โดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้เด็กของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายอุทิศ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายมานะ อุนารัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคนชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับกิจกรรม Active Play, กิจกรรมการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมไปถึงการประเมินสมรรถนะของนักเรียน เพื่อที่จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจจกรรมให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่อไป
"กิจกรรม Active Play สามารถนำไปสอดแทรกในการเรียนการเรียน หรือ เวลาว่างระหว่าง คาบเรียนได้ โดยส่วนตัวผมชอบกิจกรรมละลายพฤติกรรมก่อนการอบรม เพราะเป็นกิจกรรมการเตรียมความพร้อมแก่ผู้อบรมด้วยการเล่นเกม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งผมคิดว่าหากนำไปปรับใช้ภายในโรงเรียนของเรา ด้วยการทำให้นักเรียนได้ตื่นตัวและสนุกสนาน ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหา และระหว่างการบรรยายอาจจะมีกิจกรรมอื่นสอดแทรกเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้เรียนได้ตื่นตัวอยู่เสมอ" นายมานะ กล่าว
ปิดท้ายที่ นางสาวนันท์นภัทร นุ่มชัยภูมิ คุณครูโรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) เล่าถึงความประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า รู้สึกประทับใจและชอบกิจกรรมของ Active leaning เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้คิด ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และสนุกสนานตลอดทั้งกิจกรรม
"กิจกรรมทั้งหมดสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนให้กับเด็กอนุบาลได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่สนุกและเข้าใจได้ง่าย เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการแอคทีฟ และการให้เด็ก ๆ ได้ออกกำลังกายตลอดเวลา ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายให้พวกเขาได้เจริญเติบโตสมวัยอย่างแน่นอน" นางสาวนันท์นภัทร กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือความคืบหน้าของกิจกรรมในโครงการฯ ได้ทาง เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ActivePlayActiveSchool